คมนาคมคุยลั่น!ทุ่ง4ปีผลงานอื้อ ทุ่มงบกว่า1.09 ล้านล้านบาท ลงทุนเมกะโปรเคต์ กว่า 21โครงการยักษ์ กระตุ้นเศรษฐกิจถึงรากหญ้า มั่นใจในสิ้นปี61ทุ่มเงินอีก7แสนล้าน สร้างทางคู่9เส้นทาง-ขยายขนส่งทางอากาศ-ต่อขยายรถไฟฟ้า
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเสวนาการรับรู้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย“คมนาคม 4 ปี+อนาคตไทยได้อะไร?”ว่า ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย(พ.ศ.2558-2565) วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 2.0 ล้านล้านบาท แต่ในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่เข้ามาดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงคมนาคมได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้างรวมไปกว่า 21 โครงการใหญ่ มูลค่ารวมกว่า 1,099,677 ล้านล้านบาท ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาถือว่าคมนาคมได้ดำเนินการเป็นไปตามกรอบระยะเวลา เป้าหมายที่วางไว้สำเร็จ100% และการลงทุนดังกล่าวได้ส่งผลให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าในไตรมาสที่1 ของปีนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)โตไปกว่า 4.8% ซึ่งสัดส่วนจีดีพีที่โตขึ้นนั้นเป็นสัดส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปกว่า 30 %
อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังเหลือโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีกประมาณ10% ดังนั้นคมนาคมจะเร่งผลักดันโครงการที่เหลือ ทั้งในการออกร่างเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์)ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 61 นี้ เพื่อเปิดประมูลต้นปีหน้า และ เริ่มก่อสร้างในกลางปี 62 โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งดำเนินการอีก 4 แผนงานหลัก มูลค่ารวมกว่า 700,000ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย โครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง มูลค่ารวม 393,354 ล้านบาท ,โครงการลงทุนเพิ่มขีดความสามารถขนส่งทางอากาศ 166,659 ล้านบาท , โครงการลงทุนขยายเส้นทางรถไฟส่วนต่อขยาย 4 โครงการ มูลค่ารวม 144,700 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศาลายา ตลิ่งชัน-ศาลายา 2,รังสิต-ธรรมศาสตร์,3 .รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน 4.รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ
“4ปีที่ทำงานมาจะเห็นได้ว่า กระทรวงคมนาคมได้ทำให้ระบบการคมนาคมขนส่งพัฒนาไปมากปัจจุบันโครงข่ายรถไฟฟ้าจากปี 58-61 มีระยะทางก่อสร้างและจะให้บริการรวม 349.8 กม.จากที่ก่อนหน้านี้มีรถไฟฟ้าให้บริการเพียง 84 กม.เท่านั้น และตามแผนจะต้องมีระยะทางให้บริการครอบคลุม กทม.และปริมณฑลรวมกว่า 464 กม.นอกจากนั้นยังได้เข้ามาแก้ไขเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้สามารถเดินทางไร้รอยต่อ โดยเฉพาะช่วงเตาปูน-บางซื่อ ซึ่งเมื่อเชื่อมต่อแล้วทำให้ปริมาณผู้โดยสารในรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้นจาก 20,000คน/วันเพิ่มเป็น50,000คน/วัน”
ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างและจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี62-66 โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 18 กม.จะเปิดให้บริการได้ปี 62-63 รองรับปริมาณผู้โดยสารกว่า 160,000คน/วัน ,รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เปิดให้บริการปี62,ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี อยู่ระหว่างก่อสร้าง ให้บริการได้ปี 66 รองรับผู้โดยสารได้ 110,000คน/วัน ,รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-สุวินทวงศ์ เปิดให้บริการปี64,รถไฟฟ้าสายสีเหลือง อยู่ระหว่างก่อสร้าง เปิดให้บริการปี64 รองรับผุ็โดยสาร 220,000คน/วัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 67%เปิดให้บริการได้กลางปี 63 และเมื่อสร้างรถไฟฟ้าครบ10 สายทางแล้ว ระยะต่อไปกระทรวงคมนาคมจะเน้นสร้างรถไฟฟ้าสายย่อยเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายหลัก
นายอาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการพัฒนาระบบรางนอกจากโครงการรถไฟฟ้าแล้ว กระทรวงคมนาคม ยังได้พัฒนาสร้างทาง ปรับปรุงทางรถไฟเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟเพิ่มขึ้นเป็น 8,150 กม.จากเดิมมีระยะทางเพียง 4,043 กม. ส่วนรถไฟทางคู่ก็มีระยะทางให้บริการเพิ่มขึ้นจาก 3,157 กม. เพิ่มเป็น 3,514 กม. ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง ระยะทาง 2,217 กิโลเมตร มูลค่ารวม 3.93 แสนล้านบาท ที่จะดำเนินการในปี61นี้ประกอบด้วยรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง ได้แก่ 1.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 23,384.91 ล้านบาท, 2.ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 339 กิโลเมตร วงเงิน 51,823.83 ล้านบาท, 3.ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 75 กิโลเมตร วงเงิน 7,941.80 ล้านบาท,4.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 56,066.25 ล้านบาท, 5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 217 กิโลเมตร วงเงิน 59,924.24 ล้านบาท, 6. ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กิโลเมตร วงเงิน 26,065.75 ล้านบาท, 7.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กิโลเมตรวงเงิน 35,839.74 ล้านบาท นอกจากนี้ มีรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 วงเงิน 76,978.82 ล้านบาท และ 2.ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 วงเงิน 60,351.91 ล้านบาท