ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ชี้ B20 “เพิ่มทางเลือก-คุ้มค่าระยะยาว”

0
596

หลังภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานได้จุดพลุมาตรการเสริมเพิ่มทางเลือกและบรรเทาความเดือดร้อน กลุ่มผู้ประกอบการ “รถบรรทุก-รถโดยสาร-เรือโดยสาร”ที่พาเหรดบุกกระทรวงคมนาคม-พลังงาน เพื่อขอปรับขึ้นราคาค่าขนส่งอันเป็นผลจากราคาน้ำมันดีเซลพุ่งทะยานไม่หยุดเฉียด 30 บาท/ลิตร

โดยกระทรวงพลังงานงัดมาตรการตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรด้วยการยอมทุบคงคลังกองทุนน้ำมัน 3.1 หมื่นล้านบาทพยุงราคา พร้อมสยายปีกเปิดโครงการขายน้ำมันไบโอดีเซล B20 ให้กลุ่มรถบรรทุก- เรือโดยสาร- เกษตรกร ที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลทั่วไปลิตรละ 3 ดีเดย์ 2 ก.ค.นี้

ถึงกระนั้น มาตรการเสริมดังกล่าวนี้ ก็ยังไม่วายถูกกลุ่มประกอบการขนส่งรุมจวกยับถึงน้ำมันไบโอดีเซล B20 เป็นน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพและตกยุคไปนานแล้วไม่เหมาะกับเครื่องยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะรถที่ใช้ในปัจจุบันส่วนมากเป็นเครื่องยนต์คอมมอนเรลกันหมดแล้ว หากจะใช้กันจริงก็ต้องลงทุนปรับแต่งเครื่องยนต์

บ้างก็ว่าอาจส่งผลกระทบการทำงานของเครื่องยนต์หรือไม่? บ้างก็ว่าเป็นการมาตรการแก้เกี๊ยวซื้อเวลาไปวันๆ? ซ้ำหนักเป็นการแก้ปัญหาฉาบฉวยและไม่ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ ?

ปมร้อนนี้ต้องผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานอย่าง “มนุญ  ศิริวรรณ”เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ไขข้อสงสัยดังกล่าวได้ดี !

รัฐคลอดโครงการ B20 ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง

มนูญ ศิริวรรณ ปรารภในเบื้องต้นว่าแม้ทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกในเวลานี้จะเริ่มขยับตัวขึ้น ซึ่งเป็นผลจากจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันส่งออก(โอเปก)มีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกน้อยกว่าที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นเล็กน้อย และน่าจะเป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น

“ประเด็นมาตรการทางเลือกเพื่อบรรเทาความดือดร้อนของภาคขนส่งทั้งกลุ่มรถบรรทุก-รถโดยสาร-เรือโดยสารที่ขอปรับขึ้นราคาค่าขนส่งไปก่อนหน้านี้ ซึ่งภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการเสริมเกี่ยวกับมาตรการลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตไบโอดีเซลB 20 ลง 70 สตางค์(สต.)/ลิตรตามข้อเสนอกบง. ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา และครม.ก็ไฟเขียวเห็นชอบมาตรการดังกล่าว( 19 มิ.ย.) เพื่อเป็นอีกกลไกหนึ่งร่วมกับกองทุนน้ำมัน ที่จะลดราคาจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B20 ให้ต่ำกว่า B7 จำนวน 3 บาท/ลิตร”

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวอีกว่ามาตรการนี้กระทรวงพลังงานมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าบริการขนส่ง และค่าโดยสารสาธารณะ รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอีกทางหนึ่ง โดยการกำหนดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล B20 คำนวณจากเฉพาะเนื้อน้ำมันดีเซล ไม่ได้คิดภาษีในส่วนของน้ำมันปาล์ม โดยจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ 2 ก.ค.นี้เป็นต้นไป

“การจำหน่ายน้ำมันดีเซล B20 นี้ จะให้เฉพาะกลุ่มผู้ใช้โดยสารสาธารณะ-รถบรรทุกขนส่งสินค้า เป็นต้นเท่านั้น เบื้องต้นเป็นการนำร่องด้วยกลุ่มรถบรรทุก 400 คันที่เข้าร่วมโครงการจากนี้ไปกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ก็น่าจะนัดประชุมหารือผู้ค้าปลีกน้ำมันและผู้ประกอบการรถบรรทุกขนาดใหญ่เพื่อประชาสัมพันธ์การใช้ B20 ต่อไป”

เพิ่มทางเลือก-คุ้มค่าระยะยาว

ส่วนประเด็นคุณภาพของน้ำมัน B20 ที่ผู้ประกอบการขนส่งออกมาโจมตีก่อนนี้นั้น มนูญ สะท้อนมุมมองว่าจริงอยู่ไบโอดีเซล B20 จะมีความหนืดมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนการเติมไบโอดีเซลเข้าไป หากผู้ประกอบการปรับแต่งเครื่องยนต์ และปรับแต่งหัวฉีดให้คล่องตัวก็สามารถใช้ได้แล้ว

“ปัญหาอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการจะจริงจังมากน้อยแค่ไหนกับการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้เหมาะสมกับการใช้ B20 ที่ภาครัฐเพิ่มทางเลือกเพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนเรื่องค่าน้ำมันแพงไม่ใช่การตั้งแง่และรุมสวดถึงคุณภาพของน้ำมัน B20 แต่เพียงอย่างเดียว โดยลืมถึงความตั้งใจจริงที่ภาครัฐนำเสนอทางเลือกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในห้วงราคาน้ำมันดีเซลราคาสูง ผมยังเชื่อว่าหากเป็นผู้ประกอบการมองข้ามปัญหาจุกจิกการปรับแต่งเครื่องยนต์ และมองเห็นความคุ้มค่าการช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งในระยะยาว ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง”

ชี้ B100 ต้องสูญเงินกองทุนฯอีกบาน- เฉพาะB20 ก็เอาให้รอดก่อน!

ส่วนข้อเสนอให้รัฐเปิดทางให้ผู้ค้าปลีกน้ำมันผลิตน้ำมันดีเซล B100 ออกมาขายแทนน่าจะคุ้มกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน บอกว่าเอาโครงการB20 ให้รอดก่อนล่ะกัน เพราะB100 ราคามันไม่ถูกอย่างที่ผู้ประกอบการคิดกัน อีกทั้งรัฐยังต้องนำเงินออกมาอุดหนุนอีกจำนวนมาก

“เฉพาะการอุดหนุนราคา B20 กองทุนน้ำมันจะช่วยไปอุดหนุนคิดเป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาทคาดหากมีความต้องการใช้B 20 ประมาณ 1.5 ล้านลิตร/เดือน เฉลี่ยจะใช้เงินเพียง 4.8 ล้านบาท/เดือน และหากโครงการนี้ได้รับการตอบรับสูงจนหมดวงเงินก็ต้องมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเวลานี้กองทุนน้ำมันเหลือ 31,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี มนูญ ย้ำตอนท้ายว่าหากผู้ประกอบการหันกลับมาใช้B20 กันมากๆ ก็จะเป็นการช่วยส่งเสริมชาวสวนปาล์มได้ค่อนข้างมากอีกด้วย เช่น หากมีการใช้ B20 ในปริมาณ 3 ล้านลิตร/วัน ก็จะเป็นการช่วยอุดหนุนน้ำมันปาล์มได้มากถึง 3 แสนลิตรเลยทีเดียว