ไทยเตรียมดึง 4 ชาติอาเซียนวางแผนระบบรางรับเม็ดเงินลงทุนหลายแสนล้าน เล็งปั้นมาตรฐานต่อยอดอุตฯผลิตชิ้นส่วนรถไฟไฮสปีด พร้อมจับมือร่วมตั้งเป้าเปิดเดินรถไฟเชื่อมชาติภูมิภาคอาเซียน เดินรอยตามเส้นทาง Trans European Network (TEN) หวังกระตุ้นการท่องเที่ยว ขนส่งสินค้า และสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศเจ้าของเทคโนโลยีในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง
ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร และในฐานะประธานคณะกรรมการวิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) เปิดเผยว่าปัจจุบันภูมิภาคอาเซียนอยู่ระหว่างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบรางที่ทุกประเทศเห็นตรงกันว่าจะช่วยส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจระยะยาวตลอดจนเรียนรู้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ทั้งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมือง รถไฟระหว่างเมืองและรถไฟฟ้าความเร็วสูง
ดังนั้น ประเทศไทยโดยวสท.เตรียมจัดงานประชุมสัมมนาในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ในช่วงเวลาเดียวกับการจัดงานนิทรรศการวิศวกรรมแห่งชาติประจำปี 2561 โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่องแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของกระทรวงคมนาคม
ในงานนี้ยังได้รับเกียรติจาก Datuk Dr. Mohd Yusoff Sulaiman President และ CEO ของ Malaysian Industry-Government Group for High Technology หรือ MIGHT ที่ถือเป็นหน่วยงานหลักภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีที่วางแผนพัฒนาประเทศเพื่อเป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงที่ก่อตั้งโดย ฯพณฯ มหาเธร์ บิน มูฮัมหมัดเมื่อ ปี คศ 1993 มาร่วมปาฐกภาพิเศษในเรื่อง “Future Rail 2030: Development of Malaysia Rail Industry Roadmap” รวมถึงการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางจากผู้แทนประเทศเวียดนามและอินโดเนเซีย และการเสวนาเรื่องการพัฒนามาตรฐานระบบรางของอาเซียนภายใต้ หัวข้อ “ASEAN Rail Standardization: Challenges, Opportunities, and Possibility”
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมดังกล่าววัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางพัฒนามาตรฐานระบบรางในอาเซียนร่วมกันระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เนื่องจากขณะนี้ทั้ง 4 ชาติอยู่ระหว่างการลงทุนก่อสร้างระบบรางหลายรูปแบบ วงเงินลงทุนรวมกันหลายล้านล้านบาท ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดินรวมถึงรถไฟขนส่งสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาต้องเน้นการนำเข้าเทคโนโลยีและอ้างอิงมาตรฐานที่หลากหลายและแตกต่างจนทำให้อาจมีข้อเสียเปรียบหลายด้าน
สำหรับการประชุมครั้งนี้จะเป็นการร่วมหารือกันเพื่อกำหนดมาตรฐานชิ้นส่วนรถไฟและรถไฟความเร็วสูงของอาเซียน หลังจากพบว่าในแต่ละชาติมีความสามารถด้านการผลิตชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว เพียงแต่ต่างใช้มาตรฐานที่มีความแตกต่างกันและนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และอาจไม่คุ้มค่าที่จะผลิตเนื่องจากมีปริมาณไม่มากหากต่างคนต่างทำ
“เรามีแผนพัฒนาระบบรางในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีสภาพปัจจัยทางภูมิศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงกัน ดังนั้นหากอาเซียนมีมาตรฐานชิ้นส่วนระบบรางเดียวกันแล้ว นอกจากจะทำให้มีปริมาณที่คุ้มค่าในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อผลิตใช้ในภูมิภาค รวมถึงส่งออกเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมรางแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนการนำเข้าและลดราคาอะไหล่ซ่อมบำรุงลงได้อย่างมาก รวมถึงการสามารถใช้ทางรถไฟร่วมกันทำให้เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ (Seamless Mobility) ได้แบบเดียวกับระบบรางที่เชื่อมโยงประเทศในสหภาพยุโรปได้อีกทั้งยังสามารถใช้ความแข็งแกร่งนี้ต่อรองกับผู้นำเทคโนโลยีอุตสาหกรรมระบบราง อาทิ จีน ญี่ปุ่นหรือยุโรปได้อีกด้วย”