จาก BRI …ถึง EEC “เส้นทาง-ฮับเศรษฐกิจ”เพื่ออนาคตใหม่!

0
626

หากกวาดสายตาหาประเทศมหาอำนาจโลกที่เร่งเครื่องเต็มสูบพัฒนาประเทศในด้านโครงการสร้างพื้นฐานสุดลิ่มทิ่มประตูในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกอย่างจีนไปได้ ที่เวลานี้ขึ้นทำเนียบเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโลกไปแล้ว ที่มีโครงการยักษ์ใหญ่มากมาย อาทิ การริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) หวังพุ่งชนเป้าหมายเชื่อมโยงจีนกับอีก 70 ประเทศทั่วโลก  

ขณะที่ประเทศไทยเองก็เดินหน้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างหนักไม่ต่างจากจีนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลปูพรมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ มุ่งหวังพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนและเป็นเมืองที่น่าอยู่ อีกทั้งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ S-Curve ทั้งไทย-เทศ

Logistics Time ได้สัมภาษณ์พิเศษจาก มร.จูเลียน เวลล่า หัวหน้าดูแลฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน เคพีเอ็มจี เอเชียแปซิฟิก และนายธเนศ เกษมศานติ์ กรรมการบริหารและหัวหน้าดูแลรับผิดชอบฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ถึงมุมมองของกรณีศึกษาจากยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative หรือ BRIจากมันสมองของประธานาธีบดี สี จิ้นผิง ของจีนแผ่นดินใหญ่ สะท้อนถึงอนาคตโครงสร้างพื้นฐานของไทยอย่าง โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่รัฐบาลไทยกำลังปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งในเวลานี้ได้อย่างไร?

‘โครงสร้างพื้นฐาน’ สู่เทรนด์พัฒนาโลกยุคใหม่

ปรารภแรก มร.จูเลียน ได้สะท้อนมุมมองถึงเทรนด์โลกด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแต่ประเทศ มีบทบาทสำคัญในการปรับบริบทของโครงสร้างพื้นฐานโลกในปัจจุบัน ตั้งแต่ความท้าทายจากการรักษาพื้นที่สาธารณะและความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นสำหรับอนาคต แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่บ้างทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองและสังคมในปัจจุบัน ที่อาจนำไปสู่การชะลอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆออกไป

“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เนื่องจากรัฐบาลภูมิภาคนี้ต่างตระหนักดีว่า การเชื่อมต่อระหว่างเมืองและกับประเทศอื่น ๆ จะช่วยยกระดับการขนส่งและเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพและยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน”

 BRI แถบ-เส้นทางเศรษฐกิจจีนเชื่อม 70 ประเทศทั่วโลก

ส่วนกรณีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างจีนนั้น มร.จูเลียน ให้ความเห็นว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศจีน โดยมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มุ่งสร้างการเชื่อมต่อกับประเทศอื่น ๆ อย่างเช่นโครงการริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีน ที่ประกาศโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อปี  2556

“จีนมุ่งหวังให้การพัฒนานี้เป็นเส้นทางทางบกจากจีนผ่านทวีปเอเชียกลางไปยังทวีปยุโรป โดยมีเส้นทางการเดินเรือที่ผ่านมหาสมุทรอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกาไปยังยุโรปตอนใต้ ความคิดริเริ่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มการค้าและขยายความเจริญรุ่งเรืองไปสู่ประชากรรวม 4 พันล้านคนในกว่า 60 ประเทศ  ซึ่ง BRI  เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะใช้เวลาพัฒนาก่อสร้างอีกหลายทศวรรษ จะช่วยกระตุ้นการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศจีน ทั่วทั้งเอเชียและในพื้นที่อื่น ๆ” 

นอกจากนี้ มร.จูเลี่ยน กล่าวอีกว่ามากกว่าการเรียนรู้จากประโยชน์ของการเชื่อมต่อด้านภูมิศาสตร์ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความสำเร็จล่าสุดของประเทศจีนยังเป็นจุดเริ่มต้นการถกประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

“ประเทศไทยได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ หากไทยต้องการเป็นฮับอาเซียนก็ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้ไร้รอยต่อทั้งในเชิงการเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ ตลอดถึงการการขยายเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึงตามนโยบายของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ก็เดินมาถูกทางแล้ว แต่ก็ต้องเรียงลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการให้ดี โครงการไหนจำเป็นและเร่งด่วนและเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนก็ควรเร่งพัฒนาก่อน”

EEC ฮับเศรษฐกิจเพื่ออนาคตใหม่ไทย

ฟากนายนายธเนศ เกษมศานติ์ กล่าวเสริมว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอนุมัติแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีงบประมาณรวมประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีบทบาทอำนวยความสะดวกในการพัฒนาโครงการ EECโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยพัฒนาการขนส่งแบบต่อเนื่องในพื้นที่ EEC และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับ BRIรวมทั้งเพื่อลดปัญหาความหนาแน่นในกรุงเทพมหานคร ด้วยระบบรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ถึงพื้นที่ EEC และบรรเทาความแออัดของท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติหลักที่ 3 ของประเทศไทยอีกด้วย

“นอกจากนี้ยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ล่าสุด ก็เพิ่งเคาะทีโออาร์และประกาศให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามไทม์ไลน์จะเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 62 และแล้วเสร็จปี 67 ซึ่งก็สอดคล้องกับกรอบเวลาของการพัฒนา EEC ในภาพรวม ตลอดถึงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาและเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อช่วยการเชื่อมโยงด้านการขนส่งระหว่างพื้นที่และส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไทย”

อย่างไรก็ดี นายธเนศ กล่าวปิดท้ายว่าโครงการ EEC จะช่วยส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมและโครงการด้านสังคมอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) และการพัฒนาทางสังคมรวมทั้งการเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ

“ด้วยประโยชน์และโอกาสที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลไทย นี่เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะผ่านการลงทุนโดยตรง หรือการร่วมลงทุนและมีส่วนร่วมในการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public Private Partnerships – PPP) หากการขับเคลื่อนไปสะดุดและเสร็จตามกรอบเวลา 5 ปีจากนี้ เมื่อถึงเวลานั้น EEC จะเป็นเมืองเศรษฐกิจแห่งใหม่ของไทยอย่างแท้จริง”

EEC ถือเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับกับการเติบโตเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ ที่ทุกฝ่ายเฝ้าจับตาเป็นพิเศษ และต้องภาวนาขออย่าสะดุดตอระหว่างทางก็แล้วกัน

….มิเช่นนั้นความฝันอันยิ่งใหญ่พังคลืนแน่!