พิษดีเซลพุ่งเฉียดลิตรละ 30 บาท ภาคขนส่งกระอักถ้วนหน้า!

0
115
พิษดีเซลพุ่งเฉียดลิตรละ 30 บาท ทำผู้ประกอบการรถโดยสาร -ขนส่งกระอักถ้วนหน้า “เจ๊เกียว”บุกคมนาคมขอปรับค่าโดยสาร10 สต./กม. ขู่ฟอดหากรัฐไม่ช่วยเหลือปรับลดเที่ยววิ่ง ด้านสหพันธ์ขนส่งรถบรรทุกอาเซียนวอนรัฐนำเงินกองทุนน้ำมัน 4 หมื่นล้านตรึงราคาดีเซล ส่วน”อาคม”เบรกรอผลศึกษา 2 เดือน 
นางสุจินดา เชิดชัย หรือ “เจ๊เกียว” นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารขนส่งเปิดเผยหลังเดินทางเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมเพื่อร้องเรียนถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาดีเซลว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.59 เป็นต้นมาราคาน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมาราคาดีเซลอยู่ที่ 29.79 บาทต่อลิตรขึ้นมาถึง 10.10 บาทต่อลิตร ทำให้ผู้ประกอบการรถโดยสารต้องแบกรับภาระต้นทุนอย่างหนักกว่า 30% ต้องเลิกกิจการไปแล้ว เพราะไม่ได้ปรับค่าโดยสารมากว่า 3 ปีแล้ว  
ขอปรับขึ้นค่าโดยสาร10 สต./กม.
“การเดินทางเข้าพบรมว.คมนาคมในครั้งนี้ก็เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาอนุมัติปรับขึ้นค่าโดยสาร 10 สตางค์/กิโลเมตร เพราะราคาน้ำมันสูงเกินกว่าที่ผู้ประกอบการจะแบกรับภาระได้อีก ทั้งนี้หากรัฐไม่พิจารณาปรับขึ้นราคาค่าโดยสารก็แนวทางที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้อยู่รอดได้อีกทางคือ การปรับลดเที่ยววิ่งลงอย่างเส้นทางกรุงเทพฯ – โคราช จากเดิมที่มีเที่ยววิ่ง 300 เที่ยว/วัน อาจปรับลดเหลือ 200 เที่ยว/วัน”
อย่างไรก็ตามใน 1-2 สัปดาห์นี้หากไม่ได้ข้อสรุปตนและสมาชิกจะกลับมาทวงสัญญาอีกครั้ง ส่วนกรณีที่ทางกระทรวงคมนาคมเสนอให้ผู้ประกอบการปรับเครื่องยนต์ให้ใช้น้ำมัน b20 แทนนั้นถือเป็นข้อเสนอทำได้ยาก“ใครจะกล้าเอารถราคา 7-8 ล้านมาปรับให้ใช้บี 20 ได้ เดียวรถก็เสียหายเจ๊งแบบรถแก๊สกันพอดี”
แนะรัฐใช้เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุน
ด้านนายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์รถบรรทุกอาเซียน กล่าวว่าทางสหพันธ์รถบรรทุกอาเซียนได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงานเพื่อเรียกร้องให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดเก็บไว้เกิน 40,000 ล้านบาทออกมาสนับสนุนช่วยผู้ประกอบการไม่ต้องได้รับความเดือดร้อน โดยเสนอให้นำเงินกองทุนมาช่วยสนับสนุนค่าน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นแทนผู้ประกอบการผู้ใช้จนถึงไตรมาส 4ของปี 61 หลังจากนั้นจึงค่อยปล่อยไปตามกลไกตลาด “แต่หากรัฐบาลและกระทรวงพลังงานไม่ช่วยเหลือทางผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องปรับราคาค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอีก 5% อย่างไรก็ตามมองว่าขณะนี้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นค่าขนส่งเฉลี่ย 10,000 บาทต่อเที่ยวจะมีค่าทางด่วน-ค่ามอเตอร์เวย์มากกว่า2% ค่าน้ำมันประมาณ 5% โดยเฉลี่ยการต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 7%”
”อาคม”เบรกปรับค่าโดยสาร 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้ขอให้สมาคมรอผลการศึกษาให้กรมการขนส่งทางบกที่กระทรวงคมนาคมส่ังให้ไปศึกษาโครงสร้างราคาค่าโดยสารที่แท้จริงก่อน จึงจะสามารถนำมาพิจารณาว่าจะปรับราคาได้หรือไม่  โดยคาดว่าจะใช่เวลา 2 เดือนคือมิ.ย.-ก.ค.61 นี้  
อย่างไรก็ตามได้เสนอแนะให้ผู้ประกอบการรถร่วมโดยสาร บขส. ให้หันมาใช้น้ำมัน b20 ที่กระทรวงพลังงานกำลังพัฒนาและสนับสนุนให้ประชาชนกันมาใช้เพราะราคา น้ำมันระหว่างน้ำมันดีเซล กับ b20 มีส่วนต่างราคากว่า 3 บาท/ลิตร หากผู้ประกอบการนำมาใช้อาจจะประหยัดต้นทุนลงได้มาก
บางจากแจงราคาน้ำมันแพงขึ้นส่วนหน่ึงมาจากสารพัดภาษีที่เก็บเข้าเป็นรายได้ของรัฐ
บางจาก ชี้ราคาตลาดโลกกดน้ำมันพุ่ง
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันขายปลีกท่ีปรับขึ้นต่อเนื่องในขณะนี้  ยอมรับว่าเป็นการปรับขึ้นเฉล่ีย60-65% ของราคาท่ีมาจากเนื้อน้ำมัน แต่ที่เหลืออีก35-40% มาจากภาษีสรรพสามิต กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน  ภาษีเทศบาล ภาษีโรงเรือน ภาษีมูลค่าเพ่ิม(แวต)   สำหรับกรณีที่มีผู้เสนอให้ลดอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯลง เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมัน ไม่ให้สูงขึ้นไปมากกว่านี้ เป็นเรื่องของกระทรวงพลังงานที่จะพิจารณา 
            
ท้ังนี้ ในระยะสั้นยอมรับว่าราคาน้ำมัน จะยังคงตึงตัวพอสมควร เพราะราคาตลาดโลกยังมีปัจจัยกดดันหลายด้าน ทั้งสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ  การผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน(Shale Oil) จากสหรัฐฯที่ขณะนี้ท่อขนส่งน้ำมันเต็ม เพราะส่วนหน่ึงต้องใช้ขนส่งน้ำมันจากชั้นหินดินดาน  ทำให้อยู่ระหว่างการวางท่อใหม่ ที่จะเสร็จกลางปีหน้า ดังนั้น ในปีหน้าราคาน้ำมันอาจจะลดลงมา เมื่อมีการวางท่อส่งน้ำมันเพ่ิมขึ้นในสหรัฐฯ 
ส.อ.ท.ยันยังไม่มีผลมามากนัก ยกเว้น “ภาคขนส่ง”       
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกที่เริ่มขยับมาแตะระดับ 30 บาทต่อลิตร   ยังคงต้องจับตาใกล้ชิดว่าจะมีการปรับขึ้นต่อเนื่องหรือไม่  แต่ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่อต้นทุนการผลิตสินค้าโดยรวม ยังไม่มีผลมากนัก ยกเว้นธุรกิจด้านขนส่ง ขณะเดียวกันประเทศท่ีต้องนำเข้าน้ำมันเหมือนกับประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบเช่นกันเดียว  และหากระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก สูงไปสู่ระดับ 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็ยอมรับว่าเมื่อถึงจุดนั้นอาจจะมีผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมได้เช่นกัน