โศกนาฏกรรมซ้ำซาก “รถทัวร์ 2 ชั้น” ปัญหาที่รอ “ล้อมคอก”!

0
393

 

ช็อกอารมณ์และความรู้สึกคนไทยสุดๆสำหรับโศฏกรรมรถทัวร์มรณะ 2 ชั้นแหกโค้งพุ่งชนข้างทางบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 242ถนนสาย 304 กบินทร์บุรี – นครราชสีมา ช่วงเวลา 2 ทุ่มวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 18 ศพ บาดเจ็บอีก 32 คน

นับเป็นโศกนาฎกรรมซ้ำซากที่พรากชีวิตผู้คนจำนวนมาก จนเกิดคำถามตามมา “รถทัวร์ 2 ชั้นอีกแล้วหรอ?

อุบัติเหตุสุดสะเทือนขวัญครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และก็ไม่น่าจะใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน เพราะตราบใดที่ยังมีรถทัวร์ 2 ชั้นหลายพันคันโลดแล่นวิ่งอยู่ท้องถนนเมืองไทย แม้ในความเป็นจริงกรมการขนส่งทางบกจะออกประกาศกำหนดให้รถโดยสารที่มีความสูงตั้งแต่ 3.60 เมตรขึ้นไป ต้องผ่านเกณฑ์การทดสอบการทรงตัวบนพื้นลาดเอียง 30 องศา โดยเฉพาะมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสาร 2 ชั้น โดยได้ปรับลดความสูงของรถจดทะเบียนใหม่หรือปรับปรุงตัวถัง ความสูงต้องไม่เกิน 4 เมตร ตามมาตรฐานสากล จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ไม่เกิน 4.30 เมตร โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา

ส่วนรถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 19 มีนาคม 2560 ยังคงใช้รถได้ต่อไป เว้นแต่มีการปรับปรุงตัวถังซึ่งจะต้องนำรถเข้าตรวจสภาพซึ่งต้องเป็นไปตามเกณฑ์ความสูงไม่เกิน 4 เมตร และต้องผ่านการทดสอบการทรงตัวตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยสำหรับรถโดยสารทุกคันตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านวิศวกรรมยานยนต์และเกณฑ์การตรวจสภาพรถเพื่อความปลอดภัย

เสมือนเป็นการทำหมัน “รถทัวร์ 2 ชั้น” อย่างมีนัยสำคัญหวังเข้มงวดมาตรการเชิงป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารทุกประเภททุกคัน เพราะการบังคับให้รถบัสสูงไม่เกิน 4 เมตร จะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถต่อรถบัส 2 ชั้นได้ เพราะเหลือพื้นที่และความสูงของแต่ละชั้นไม่สอดรับกับการใช้งานจริง

ย้อนรอยรถทัวร์ 2 ชั้นจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคตกต่ำ

หากจะเล่าลือตามท้องเรื่องแล้ว รถบัส 2 ชั้นได้ให้บริการผู้โดยสารชาวไทยหย่อนก้นสัมผัสมานานกว่า 20 ปี ช่วงที่พีคสุดๆเกิดปรากฎการณ์คนแห่ขึ้นรถบัส 2 ชั้นกันทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่ว่าจะเป็นจะรถสาย(รถทัวร์)ที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารเข้าเมืองหลวง หรือแม้กระทั่งรถบัส 2 ขั้นที่วิ่งรับจ้างไม่ประจำทาง(รถ 30) เพราะการได้มีโอกาสขึ้นนั่งรถบัส 2 ชั้นถูกตีความหมายว่ามันช่างอลังการยิ่งนัก เป็นรสนิยมของคนมีคลาส โก้หรู นั่งนิ่มสบาย

อีกทั้งยังได้มองเห็นวิวทิวทัศน์ริมทางได้อีกด้วย ถึงขนาดหากใครไม่ได้ลองสัมผัสก็จะถูกตราหน้า “โคตรเชย”!

แต่พอได้รับความนิยมมากขึ้น รถที่ให้บริการก็ไม่พอต่อความต้องการ การแข่งขันในแวดวงขนส่งก็ทวีความดุเดือดมากขึ้นทุกวัน วันดีคืนดีเกิดมีผู้ประกอบการหัวใสนำแชสซีส์เก่าญี่ปุ่นมาประกอบเป็นรถบัส 2 ชั้นแล้วติดโลโก้เป็นแบรนด์ยุโรป ประกอบกับอู่ต่อรถหน้าเงินฉกโอกาสช่วงกำลังบูมตัดต่อพันธุกรรมรถโดยปราศจากคุณภาพที่กรมฯกำหนด กลายเป็นรถที่ออกมาวิ่ง“ไร้มาตรฐาน”

จนระยะหลังเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง และแต่ละครั้งจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ประกอบกับปริมาณรถมากขึ้นยากที่ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานได้ ความนิยมรถบัส 2 ชั้นที่เคยเรืองอำนาจก็ลดน้อยถอยลง มิหนำซ้ำยังถูกค่อนแคะว่าเป็น “วัตถุคว่ำง่าย” แพ้ทางโค้ง แพ้ทางลาดชั้น แพ้ภูเขา แพ้ตีนผี แพ้ความเร็วเกิน  80 กม./ชม.มีผู้เอาชีวิตไปเสี่ยงมากกว่า 50  ชีวิต กับความสูงของรถกว่า 4.20  เมตร

บัส 2 ชั้นเสี่ยงคว่ำง่ายกว่าชั้นเดียว 6 เท่า

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุประเทศไทย พบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตมากว่ารถบัสชั้นเดียวถึง 6 เท่า อีกทั้งยังเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุในรถบัส 2 ชั้นยังคงมีอัตราสูง โดยรถบัส 2 ชั้นในไทยทุกคันล้วนสูงเกิน 4 เมตร และประกอบโครงสร้างขึ้นมาเองโดยอู่ประกอบภายในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ แม้จะมีข้อดีรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น แต่มีก็มีความเสี่ยงที่จุดศูนย์ถ่วงของรถเมื่อเข้าโค้งมีโอกาสพลิกคว่ำได้ง่าย และหากเปรียบเทียงกับรถชั้นเดียว รถทัวร์ 2 ชั้นมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่า ถึง 6 เท่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รถบัสพลิกคว่ำขึ้นอยู่กับความกว้างของฐานล้อ ความสูงของจุดศูนย์ถ่วง ความเร็ว และรัศมีโค้ง

“รถทัวร์ 2 ชั้นและรถชั้นเดียวที่มีความสูงเกิน 3.6 เมตร วิ่งให้บริการมีประมาณ 20,000 คัน โดยทุกคันต้องผ่านทดสอบความลาดเอียงไม่น้อยกว่า 30 องศา แต่ปรากฏว่ามีรถบัส 2 ชั้น 4,800 -6,000 คัน ที่ยังไม่ผ่านทดสอบความลาดเอียงของกรมฯ”  

หากจะว่ากันไปตามเนื้อผ้าแล้ว การที่กรมฯประกาศทำหมัน ‘รถโดยสาร 2 ชั้น’อย่างมีนัยสำคัญ โดยอ้างถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ก็ดูจะไม่เป็นธรรมมากนัก เพราะอุบัติที่เกิดขึ้นจะโยนบาปให้กับตัวรถก็ไม่ใช่ทั้งหมด มันยังเหมารวมถึงถนนหนทาง และที่สำคัญตัวตัวเป้งอันดับแรกต้องยกให้ “คนขับ” ที่ขาดวินัยการขับที่ดีและจิตสำนึกความรับผิดชอบที่ดี

“แม้รถจะดีเลิศประเสริฐศรีมากแค่ไหน แต่หากคนขับใช้วิชาตีนผีตะบี้คันเร่งซะเต็มตีน อีกทั้งยังขาดความรับผิดชอบที่ดีในฐานะ “คนขับ” ที่ต้องวินัยการขับและคำนึงถึงปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก เชื่อเหลือเกินว่าก็เกิดอุบัติขึ้นอยู่ดี”

โศกนาฏกรรมซ้ำซากกับมาตรการ “ล้อมคอก”

ขณะที่มาตรการคุมเข้มของภาครัฐยังถูกมองว่าเป็นได้แค่มาตรการ “ล้อมคอก” ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจัดตั้งผู้จัดการด้านความปลอดภัย หรือเซฟตี้แมเนเจอร์ ที่ภาครัฐกำลังปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งอยู่ในเวลานี้ การออกกฎหมายและมาตรการควบคุมรถสองชั้นประเภท 30 โดยเฉพาะเส้นทางเดินรถ โดยจะกำหนดพื้นที่ให้รถสองชั้นวิ่งบางพื้นที่ เช่น ภายในจังหวัด ไม่ข้ามระหว่างภูมิภาค หรือเส้นทางที่มีพื้นที่ลาดชันเกิดความเสี่ยง

“แต่ทว่าแนวทางที่กระทรวงสั่งการให้ควบคุมรถ 30 สองชั้นให้วิ่งในเส้นทางจำกัดนั้น ยังมีข้อจำกัดด้านการออกกฎหมายควบคุมลักษณะใด ผู้ประกอบการ สมาคมรถโดยสารไม่ประจำทางจะเห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่  ขณะที่การห้ามรถบัส 2 ชั้นที่เป็นรถบขส.หรือรถร่วมบขส.วิ่งในเส้นทางอันตราย 111 เส้นทางทั่วประเทศ โดยบขส.เองก็ออกมายอมรับว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางการวิ่งของรถบัส 2 ชั้นได้ เพราะจดทะเบียนไว้ตั้งแต่แรก หรือหากนำมาวิ่งระยะสั้นก็อาจไม่คุ้มทุน และทับซ้อนกับรถตู้อีกด้วย”  

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นรถใหญ่หรือรถเล็ก  หากคนขับยังไร้วินัยการขับที่ดี ประเทศไทยก็ยังถูกตราหน้าว่าเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากอันดับหนึ่งของโลกอยู่ดี

เพราะตราบใดที่ “วินัยและสันดาน”ของคนขับยังต่ำเตี้ยติดดิน ต่อให้กรมฯทำคลอดสารพัดกฎอะไรออกมารายวันก็เปล่าประโยชน์สิ้นดี ….เพราะมันก็แค่มาตรการ “ล้อมคอก” เท่านั้น!