เหลือบไปเห็นข่าวคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในคราวประชุมกลางเดือนที่ผ่านมา “ตีกลับ” แผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แล้วก็ให้แปลกใจ!
โดยในส่วนของการบินไทยนั้น แม้จะมี “โหลดแฟคเตอร์” ที่ดีขึ้นแต่ คนร. เห็นว่ายังคงมีความจำเป็นต้องจัดทำแผนการเงินในระยะยาว ส่วนการรถไฟฯ และ ขสมก.ที่ชงขอปรับขึ้นค่าโดยสารมานั้น เห็นว่ายังไม่เหมาะสม ให้กลับไปปรับปรุงองคพายพภายในองค์กรให้เรียบร้อยก่อน
ก็พอดีเหลือบไปเห็นนิตยสาร Logistics Time เขา Monitor แผนฟื้นฟูกิจการ 7 รัฐวิสาหกิจในระยะ 4 ปีที่ผ่านมาหลัง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ลุกขึ้นมารัฐประหารจัดตั้งรัฐบาล คสช. เข้าบริหารประเทศมาจนครบ 4 ปี และทำท่าอยากจะสืบทอดอำนาจกันยาวเป็นประวัติการณ์ หาก สนช. ยัง “โม่แป้ง” แก้ไขกฎหมายลูกเลือกตั้งและกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่แล้วเสร็จในชาตินี้
โดยแผนฟื้นฟู 7 รัฐวิสาหกิจที่ถือเป็นโครงการ “นำร่อง” ของการปฏิรูปวิสาหกิจที่ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ดูจะมีเพียง “ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.)” หรือ SME Bank เพียงแห่งเดียวที่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาหนี้เสีย NPL การปรับโครงสร้างธุรกิจ ปรับหลักเกณฑ์และจัดสมดุลย์การปล่อยกู้ จนสามารถพลิกฟื้นกิจการกลับมามีกำไรได้ ซึ่งล่าสุดได้รับไฟเขียวจากที่ประชุม คนร.ให้ถอนออกจากแผนฟื้นฟูกลับไปให้กระทรวงการคลังกำกับดูแลต่อไปแล้ว
ส่วนรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ นั้นยังคง “ย่ำกับที่” บางแห่งทำท่าจะถอยหลังลงคลองหนักไปกว่าเดิมเสียอีก อย่าง ขสมก.ที่มีหนี้สะสมอยู่กว่า 100,000 ล้านบาท และใช้เวลาปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน วงเงิน 4,000 ล้านบาทมาตั้งแต่ปีมะโว้ ก่อนจะลุยจัดซื้อชุดใหญ่ 3,167 คัน วงเงินรวมกว่า 13,600 ล้านบาทนั้น อาถรรพ์จัดซื้อเมล์เอ็นจีวีที่ดำเนินการมากกว่า 12 ปียังคงเผชิญอาถรรพ์ต้องล้มลุกคลุกคลานไม่ไปไหน
ล่าสุดอุตส่าห์จัดมหกรรม “ปาหี่” รับมอบรถเมล์เอ็นจีวีล็อตแรก 100 คันซะใหญ่โต หวังจะให้นายกฯ “บิ๊กตู่” รู้สึกฟินกับความสำเร็จในการล้างอาถรรพ์เมล์เอ็นจีวีกันได้เสียที ที่ไหนได้คล้อยหลังไม่ทันข้ามสัปดาห์กลับถูกศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับการลงนามในสัญญาจัดซื้อ แถมยังสั่งให้จ่าย “ค่าโง่” จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีครั้งก่อนที่ไปยกเลิกสัญญากับบริษัทเอกชนเขาอีกกว่า 1,100 ล้านบาทเสียอีก
แม้แต่การบินไทยรัฐวิสาหกิจที่ได้ชื่อว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เป็นสายการบินแห่งชาติที่ที่ออกไปผงาดแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ทั่วโลก นำรายได้เข้าประเทศปีละนับแสนล้านบาท แต่กลับอยู่ในสภาพขาดทุนบักโกรกแบกหนี้อยู่กว่า 200,000 ล้าน จนแทบจะต้องวิ่งโร่ขอให้คลังค้ำประกันเงินกู้มาจ่ายเงินเดือนพนักงานกันแล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ปกติแล้วหากเป็นธุรกิจเอกชนที่ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ หรืออยู่ในสถานะที่จ่อล้มละลายจนต้องเข้าสู่การฟื้นฟูแล้ว ร้อยทั้งร้อยเราจะเห็นเจ้าหนี้ผู้บริหารแผนเขาจะส่งคนเข้าไปนั่งบริหารยกชุด ตั้งแต่บอร์ดยันฝ่ายบริหารและมุ่งเน้นการฟื้นฟูกิจการด้วยการตัดรายจ่าย ปรับลดขนาดปรับลดบุคคลากร ส่วนไหนที่ไม่ใช่ Core business จะถูกตัดขายออกไป
ในส่วนของพนักงานและผู้บริหารนั้นก็เช่นกัน ต้องยอมรับชะตากรรมที่ต้องถูกปรับลดสวัสดิการต่างๆ เพื่อตัดทอนรายจ่ายหรือแม้แต่การปรับลดพนักงานลง กิจการใดที่ไม่มีกำไรก็ต้องหาทางปรับลดหรือขายทิ้งไปเลยก็มีก็เห็นเขาทำแบบนี้กันทั้งนั้น หากฟื้นฟูไม่ไหวกันจริงๆ ก็ต้องยอมรับชะตากรรมอาจถูกปิดกิจการกันไปเลยก็มี
แต่กับแผนฟื้นฟูกิจการ 7 รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ”ซุปเปอร์บอร์ด” ที่มีนายกฯ เป็นประธานนั้น กลับตรงกันข้าม จนไม่แน่ใจว่ากระทรวงคลังหรือรัฐกำลังเล่นอะไรกับการฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้
เพราะแผนฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจที่เห็นและเป็นไปนั้นกลับตรงกันข้าม แต่ละองค์กรที่จัดทำแผนฟื้นฟูนำเสนอผ่านความเห็นชองจากบอร์ด คนร. และ “ซุปเปอร์บอร์ด” หรือแม้กระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น แทบไม่น่าเชื่อว่ากิจการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้อยู่ในช่วงของการฟื้นฟูกิจการ เพราะบางแห่งยังคงทำแผนสยายปีก ขยายกิจการ โหมลงทุนราวกับว่าตนเองมีสถานะแข็งแกร่ง มีกำไรทะลักล้นกันเป็นพันล้านหมื่นล้าน จึงต้องจัดทำแผนสยายปีก ขยายกิจการและโหมลงทุนขนานใหญ่
อย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่บอกว่าแบกหนี้สะสมอยู่กว่า 120,000 ล้านบาทนั้น ลองย้อนยกลับไปดูแผนฟื้นฟูที่รถไฟและคมนาคมนำเสนอต่อต้นสังกัด และ คนร.นั้นจะเห็นได้ว่ายังคงมุ่งมั่นที่จะลงทุนรถไฟทางคู่ในเฟส 1 และเฟส 2 กันเป็นแสนล้าน ทำแผนจัดซื้อหัวรถจักร ตู้โดยสาร จัดตั้งบริษัทลูกร่วมทุนอะไรต่อมิอะไรและถึงขั้นฝันจะทำรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” ที่ต้องลงทุนกันเป็นแสนล้านหรือหลายแสนล้าน
จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าตกลงแล้วรถไฟกำลังอยู่ในระยะฟื้นฟูกิจการหรือกำลังขยายกิจการกันแน่ ทั้งที่อนาคตการสยายปีกขยายกิจการที่ว่านั้น ต้องเผชิญกับภาวะแข่งขันชนิด “หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง” ที่ไม่มีใครบอกได้ว่าหากดำเนินการตามแผนสายปีก ขยายกิจการที่ว่านั้นแล้วจะทำให้การรถไฟฯ ผงาดขึ้นมาแข่งกับธุรกิจเอกชนไม่ว่าจะ “โลว์คอสต์ แอร์ไลน์” หรือกิจการ บขส. กิจการรถตู้ หรือรถร่วม บขส.ได้หรือไม่
เช่นเดียวกับ ขสมก.ที่กำลังปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งกับเอากับการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ก่อนจะลุยอีกชุดใหญ่เพื่อให้ครบ 3,167 คัน ตามแผนแม่บทระยะยาวที่วางเอาไว้ต้ังแต่ปีมะโว้ไหนก็ไม่ทราบนั้น ก็ไม่รู้ คนร. ที่กอปรด้วยข้าราชการผู้ทรงคุณวุฒิระดับด็อกเตอร์เต็มลำเรือนั้น จะเคยย้อนถามหรือไม่ว่าหากดำเนินการไปได้ตามแผนนี้แล้ว รถเมล์ ขสมก. จะสามารถพลิกฟื้นขึ้นมาประกอบการมีกำไรได้กันจริงๆ ออกรถเมล์เอ็นจีวีเที่ยวแรกแล้วสามารถจะมีกำรี้กำไรเลี้ยงตัวเองได้ทันที
แม้แต่แผนฟื้นฟูการบินไทยที่ขึ้นต้นก็เป็นลำไม้ไผ่ดีอยู่หรอกต้องปรับลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขายฝูงบิน ขายเครื่องบินที่ไม่สอดคล้องกับภารกิจซื้อมาบินแล้วไม่คุ้มทุน ขายกิจการที่ตั้งสำนักงานที่ไม่ทำกำรี้กำไรออกไป จัดทัพปรับโครงสร้างภายในองค์กรกันใหม่ รีดไขมันที่มันเทอะทะกันออกไป
แต่ทำไปทำมาก็ยังคงชงแผนสยายปีกขยายฝูงบินกันเป็นล่ำเป็นสันอีกกว่า 50-60 ลำเข้าไปโน้น ของเก่าที่ว่าจะขายตั้งแท่นขายกันมาเป็นสิบปียังขายไม่ออก กลับทำแผนจัดซื้อฝูงบินใหม่กันมาเป็นระลอกๆ เฉพาะที่ขอออกบอนด์ ออกตราสารหนี้เงินกู้มาเตรียมซื้อฝูงบินใหม่ในระยะ 4-5 ปีข้างหน้าก็ไม่น้อยกว่า 80,000 ล้านบาททั้งที่หนี้เดิม 200,000 ล้านบาทนั้นก็ทำเอาหืดจับหายใจไม่ทั่วท้องอยู่เลย
คงต้องย้อนถามกลับไปยังกระทรวงการคลัง และ คนร. ตกลงแล้วการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจที่พวกท่านไฟเขียวกันออกมาเป็นดุรุดตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น เป็นการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจหรือแผนเฟื่องฟูกิจการกันแน่ เพราะหากเป็นธุรกิจเอกชนที่เข้าข่ายขอฟื้นฟูกิจการแล้วดำเนินการอย่างนี้ก็มีหวังเจ้าหนี้ได้ไล่บอร์ดยกชุดแน่ครับ
บทความโดย : เนตรทิพย์