กรมการขนส่งทางบก เปิดตัวรถโดยสารใหม่ 3 เส้นทางท”ตราด-ระยอง-ชลบุรี”เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา หวังเพิ่มทางเลือก สะดวก คล่องตัวทุกการเดินทาง เติมเต็มศักยภาพอู่ตะเภาให้เป็น Hub การบินแห่งใหม่ สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การพัฒนาเส้นทางรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อสนามบินและระบบขนส่งสาธารณะอื่นภายใต้นโยบาย One Transport ของกระทรวงคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารด้านการเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ กรมการขนส่งทางบกเล็งเห็นถึงความสำคัญจึงได้เดินหน้าพัฒนาเส้นทางรถโดยสารเชื่อมต่อให้บริการถึงภายในสนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร ปัจจุบัน
“ประเทศไทยมีสนามบินพาณิชย์ทั้งหมด 34 แห่ง บริหารงานโดยหน่วยงาน 4 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด จำนวน 6 แห่ง, กรมท่าอากาศยาน จำนวน 24 แห่ง, บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด จำนวน 3 แห่ง และกองทัพเรือ จำนวน 1 แห่ง ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกได้ประสานความร่วมมือเพื่อเปิดให้บริการรถโดยสารเข้าสู่สนามบินแล้วทั้งสิ้น 33 แห่ง(ยกเว้นท่าอากาศยานจังหวัดตราด อยู่ในระหว่างการกำหนดเส้นทางให้มีความเหมาะสม) โดยขณะนี้มีการจัดการเดินรถโดยสารให้บริการแล้ว 22 แห่ง ในจำนวนนี้รวมถึงการให้บริการเส้นทางรถโดยสารเข้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาด้วย ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างพิจารณาผู้ประกอบการขนส่งที่มีความพร้อมเข้าให้บริการ โดยจะดำเนินการครอบคลุมครบทุกสนามบินภายในปี 2561”
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาได้รับการพัฒนาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ สำหรับรองรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางมาพัทยาและจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออก กรมฯจึงได้พัฒนาเส้นทางรถโดยสารเข้าให้บริการถึงภายในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา รองรับและเพิ่มทางเลือกให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองและแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดในภาคตะวันออก รวมถึงสามารถเชื่อมต่อสู่โหมด
การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยได้เปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งที่มีความพร้อมและมาตรฐานการให้บริการอย่างเข้มข้น จนคัดเลือกได้ผู้ประกอบการเข้าให้บริการตามมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพบริการที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
สำหรับรถโดยสารที่จะให้บริการภายในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภามีทั้งสิ้น 3 เส้นทาง ได้แก่
สาย 398 ตราด – อู่ตะเภาโดยมีบริษัท สุวรรณภูมิบูรพา จำกัด เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการ มีเส้นทางและสถานที่หยุดรับ-ส่งผู้โดยสาร ดังนี้ จ.ตราด, จ.จันทบุรี, สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดระยองแห่งที่ 1, ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง 15 นาที
สาย 399 ระยอง – อู่ตะเภาโดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัด บี เอช ระยอง เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการ มีเส้นทางและสถานที่หยุดรับ-ส่งผู้โดยสาร ดังนี้ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดระยองแห่งที่ 2, อ.บ้านฉาง, ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภารวมระยะทาง 35 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 33 นาที
สาย 400 ชลบุรี – อู่ตะเภาโดยมีบริษัท สุวรรณภูมิบูรพา จำกัด เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการ มีเส้นทางและสถานที่หยุดรับ-ส่งผู้โดยสาร ดังนี้ จ.ชลบุรี, อ.ศรีราชา, เมืองพัทยา, อ.สัตหีบ, ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา
รวมระยะทาง 100 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 34 นาที
ทั้งนี้ ในแต่ละเส้นทางใช้รถโดยสารปรับอากาศมาตรฐานใหม่ มีระบบความปลอดภัยครบครัน ติดตั้ง GPS Tracking และอุปกรณ์แสดงผลความเร็ว (Speed Monitor) มีระบบเบรก ABS ตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดและมีอุปกรณ์ต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยผ่านการตรวจรับรองโดยกรมการขนส่งทางบก ใช้จำนวนรถ 2-4 คัน ในแต่ละเส้นทางเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินประมาณ 40 เที่ยวต่อวัน และในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นถึง 50 เที่ยวต่อวัน ป
ด้าน พลเรือเอก รังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กล่าวว่า ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา หรือ สนามบินอู่ตะเภา อยู่ห่างจากตัวเมืองระยองประมาณ 35 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองพัทยาประมาณ 30 กิโลเมตรจึงได้รับการเลือกให้เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ของประเทศ และเป็นประตูสู่ภาคตะวันออก มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และก่อให้เกิดการพัฒนาจังหวัดและภูมิภาค สำหรับสายการบินของไทยที่ให้บริการ ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยไลอ้อนแอร์ และนกแอร์ส่วนสายการบินจากต่างประเทศ ได้แก่ Azur Air, Royal Flight, North Wing, Scat Air, S7 Airlines, เสิ่นเจิ้นแอร์ไลน์ส รองรับผู้โดยสารเฉลี่ยเดือนละประมาณ 35,000 – 40,000 คน นอกจากนี้ ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาได้ขยายและเพิ่มอาคารผู้โดยสารใหม่ ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 3 ล้านคนต่อปี ดังนั้น การเพิ่มทางเลือกและความสะดวกสบายในการเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่ตัวเมืองจึงมีความสำคัญและช่วยเพิ่มศักยภาพให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาเป็น Hub ของการบินแห่งใหม่ของประเทศรองรับนโยบาย EEC ของรัฐบาล ที่สำคัญคือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้โดยสารเดินทางได้สะดวก คล่องตัวทุกการเดินทาง