8 พฤศจิกายน 2557 ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อนคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้สั่งการให้ 7 รัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาขาดทุนบักโกรก เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อนำเสนอให้“ซูเปอร์บอร์ด”พิจารณา
โดย 7 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในข่ายฟื้นฟูประกอบด้วย 1)องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 2)การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 3)บริษัท การบินไทย )จำกัด (มหาชน) 4)บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 5)บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 6)ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และ7) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (iBank)
ขวบปีหลังจากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูปเปอร์บอร์ด” ครั้งที่ 8/2558 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นประธาน ได้กลับมาพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ 7 รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่แต่ละแห่งได้ดำเนินการไปก่อนหน้า
ก่อนที่นายกฯจะมีคำสั่งให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ต้องดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูองค์กรให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยสั่งการให้ คนร.ประเมินผลการดำเนินการใน 2 ระยะ โดยให้พิจารณาว่าสมควรต้องแจก “ใบเหลือง” เตือนผู้บริหาร รสก.นั้นๆ พิจารณาว่าจะแจก “ใบแดง” หรือไม่ และตั้งเกณฑ์วัดประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟู (KPI) ทั้งในส่วนของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และต้นสังกัด คืบหน้าไปถึงไหน
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 61 มีมติให้กระทรวงคมนาคมกลับไปพิจารณาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทการบินไทยใหม่อีกครั้ง
ก่อให้ เกิดคำถามแผนฟื้นฟูกิจการ 7 รัฐวิสาหกิจที่ได้ดำเนินการมากว่า 4 ปีนั้นคืบหน้าไปถึงไหน 7 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในแผนฟื้นฟูมีการพัฒนากิจการคืบหน้าไปถึงไหนอย่างไร Logistics Time ถือโอกาสในโอกาสครบรอบ 4 ปีรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 นี้ ทำการ Monitor ความคืบหน้าในการฟื้นฟู 7 รัฐวิสาหกิจที่ว่านี้ ดังนี้ :
การบินไทย 4 ปีที่ “ย่ำกับที่”
เริ่มต้นจากบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งเผชิญปัญหาขาดทุนบักโกรกกว่า 12,000 ล้านบาทในปี 2557และยังคงมีแนวโน้มจะขาดทุนเพิ่มขึ้น คนร.หรือซุเปอร์บอร์ด จึงสั่งฝ่ายบริหารจัดทำแผนฟื้นฟูครั้งใหญ่ถึงขั้น “ยกเครื่อง”บินไทยเป็นแผนระยะ 2 ปีตั้งแต่ปี 2558-2559 ที่เน้นเลือดหยุดไหลและหวังจะกลับมาผงาดอีกครั้งในปี 2560
โดยแผนหลักๆของการฟื้นฟูแบ่งเป็น 3 กลยุทธ์ 6 ยุทธศาสตร์ที่ประกอบด้วย การปรับปรุงเครือข่ายสายการบิน Network strategy , ปรับปรุงฝูงบิน เพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ ปรับแผนการตลาดเน้นการปรับกลยุทธ์ในการขายตั๋ว ,ปรับปรุงการปฏิบัติการและต้นทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงการปรับลดสิทธิพิเศษที่ทั้งบอร์ดและฝ่ายบริหารเคยได้รับ ปรับลดเที่ยวบิน เส้นทางบิน หรือเลิกเส้นทางบินที่ไม่มีกำไร ทำแผนขายเครื่องบิน หรือสำนักงานในต่างประเทศที่ไม่มีความจำเปแน แม้กระทั่งปรับลดพนักงานอย่างน้อย 5,000 คนในระยะ 5 ปี
แต่หลังสิ้นสุดแผนในระยะแรกปี 58 การบินไทยยังคงขาดทุนต่อเนื่องอีกกว่า 21,000 ล้าน และแม้จะสามารถพลิกฟื้นกลับมาทำกำไรในปี 59 ได้ถึง 47 ล้านบาท แต่ปี 60 ก็หวนกลับมาขาดทุนอีกกว่า 2,000 ล้านบาทและยังคงไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้นจนปัจจุบัน ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโฌยบายรัฐวิสาหกิจ( คนร)เมื่อ 20 มกราคม 2561 ได้ตีกลับแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)
ขณะที่แผนฟื้นฟูบินไทยยังไร้ทิศ การบินไทยยังเผชิญปัญหาที่ยังคงไม่สามารถเฟ้นหาว่าที่ “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่”หรือ “ดีดีบินไทย”คนใหม่แทน นายจรัมพร โชติกเสถียร ที่พ้นวาระไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์2560 ได้ แม้จะมีความพยายามเปิดการสรรหาล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 แต่กระทั่งวันนี้ร่วม 2 ปีแล้วก็ยังคงไร้วี่แวว
การรถไฟฯ สางหนี้แสนล้านเหลว
ในส่วนแผนการแก้ปัญหาขาดทุนบักโกรกของการรถไฟ ฯ(ร.ฟ.ท.)ที่ต้องแบกภาระหนี้อยู่กว่า 110,000 ล้านบาท ซึ่งคนร.กำหนดให้ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่ประกอบไปด้วย 5 แผนงานสำคัญประกอบด้วย 1) การปรับปรุงระบบการเดินรถ 2)ปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้อง 3)การโอนสิทธิ์ที่ดินให้กระทรวงการคลังเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินและผลการขาดทุนของ ร.ฟ.ท. 4) การพิจารณาบทบาทหน้าที่ของกรมขนส่งทางรางและ ร.ฟ.ท. และ5) การกำหนดแนวทางการให้เอกชนร่วมงานกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และแอร์พอร์ตลิงก์
มีการจัดทำแผนจะยกดินบริเวณสถานีมักกะสัน 497 ไร่ และสถานีแม่น้ำ ให้กระทรวงการคลังนำไปบริหารจัดการระยะเวลา 99 ปีแลกกับการปลดภาระหนี้กว่า 60,000 ล้านบาท การแยกบทบาทกิจการรถไฟ จัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน เดินรถไฟ และจัดตั้งกรมขนส่งทางรางขึ้นเพื่อแยกกิจการรถไฟออกจากกัน
แต่จนถึงวันนี้ แผนฟื้นฟูกิจการรถไฟที่ว่ายังคง “ย่ำกับที่” การแยกบทบาทกิจการรถไฟและจัดตั้งกรมขนส่งทางรางไม่มีความคืบหน้าไปไหน การรถไฟฯยังคงไม่สามารถสร้างความกระจ่างใหัพนักงานได้ ชณะที่การยกที่ดินมักกะสันและสถานีแม่น้ำให้กระทรวงการคลังเพื่อแลกกับการปลดหนี้ 60,000 ล้านก็ล้มเหลว เพราะตัดขัดข้อกฎหมายเวนคืน
ล่าสุดนายกฯในฐานะหัวหน้าคสช.ยังมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เคยปลดบอร์ดและฝ่ายบริหารการรถไฟฯ เมื่อต้นปี 2560 ด้วยหวังจะให้บอร์ดใหม่ขับเคลื่อนองค์กร แต่ท้ายที่สุดหัวหน้า คสช.ต้องหวนกลับมาแก้คำสั่ง คสช.ด้วยการโละบอร์ดรถไฟฯชุดเก่าไปอีกเมื่อกลางเดือนเมษายน 61 ที่ผ่านมา
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
ในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือ “ขสมก.”ได้จัดทำแผนฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาขาดทุนขององค์กรที่มีอยู่กว่า 58,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 โครงการหลัก คือ 1.โครงการจัดหารถเมล์ NGV 3,183 คันวงเงินกว่า 13,162 ล้านบาท 2.โครงการสร้างอู่จอดรถเมล์ใหม่ 5 แห่งในปี2558 วงเงิน 253.89 ล้านบาท 3.ปรับปรุงเส้นทางเดินรถเมล์จาก 210 สาย ให้เหลือ 186 เส้นทาง 4. โครงการระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ และ 5. โครงการสมัครใจเกษียณอายุก่อนกำหนด
แต่ความคืบหย้าของการดำเนินการฟื้นฟูกิจการ ขสมก.นั้นลำพังเพียงแค่โครงการจัดหารถเมล์ NGV 489 คันที่กระทรวงคมนาคมและขสมก.แยกออกมาดำเนินการนำร่อง โดยนายกฯและกระทรวงคมนาคมมีนโยบายเร่งรัดให้ขสมก.ดำเนินการมาตั้งแต่ปีมะโว้ หวังจะให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนตั้งแต่ปี 2558 แต่จนแล้วจนรอดวันนี้ผ่านไปกว่า 4 ปี แผนจัดหารถเมล์ NGV ขสมก.489 คันก็ยังคง “จอดป้าย” ต้องล้มประมูลไปครั้งแล้วครั้งเล่า
ล่าสุดยังจ่อจะเผชิญ “ค่าโง่” เอาอีก เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ ขสมก.ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายให้แก่บริษัทเบสท์นรินกว่า 1,100 ล้าน จากการที่ ขสมก.ยกเลิกสัญญาจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 489คัน และไม่ดำเนินการรับมอบรถเมล์ตามสัญญา พร้อมสั่งขสมก.ระงับการรับมอบรถเมล์ใหม่กับกลุ่มบริษัท ช.ทวีที่เป็นผู้ชนะประมูลด้วยวิธีพิเศษล่าสุดเอาไว้อีก จ่อจะกลายเป็นอีกมหากาพย์
ขณะที่โครงการปรับปรุงเส้นทางรถเมล์ก็เหลวไม่เป็นท่า การจัดหาบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ติดตั้งแคชบ๊อกซ์ บนรถเมล์ 2,600 คันเพื่อลดจำนวนกระเป๋าโดยสารจ่อจะต้องกลายมาเป็นค่าโง่สูญเสียงบประมาณเช่าใช้ไปกว่า 1,600 ล้านแต่กลับใช้ไม่ได้ต้องถอดทิ้งไปอีก
“ทีโอที-แคท”ค้านแผนฟื้นฟู
ในส่วนบริษัท ทีโอทีจำกัด(มหาชน) และบริษัท กสทโทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) หรือ”แคท” สองรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารของรัฐที่อยู่ในสภาพหืดจับหายใจไม่ทั่วท้องหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานมือถือใต้ชายคา และต้องประสบปัญหาจากการแข่งขจัน จนต้องจัดทำแผนฟิ้นฟูองค์กรขนานใหญ่นั้น
แม้ คนร.และคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะเห็นชอบให้สองรัฐวิสาหกิจต้องแยกทรัพย์สินที่เป็น Core business หลักเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนและให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนคือ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด หรือ NBNและบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต จำกัด หรือ NGDC แต่ก็ถูกพนักงานและฝ่ายบริหารของทั้งสององค์กรคัดค้านอย่างหนักถึงขั้นลุกฮือประท้วง ด้วยเห็นว่าไม่ใช่เป็นแนวทางฟื้นฟูกิจการดั่งที่ทุกฝ่ายคาดหวังแต่เป็นหนทางที่มีแต่จะทำให้สององค์กรสูญสลายเสียมากกว่า
SME Bank–iBank
ส่วนแผนฟื้นฟู ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank และธนาคารอิสลามหรือ “iBank ” นั้นพบว่า ในส่วนของ เอสเอ็มอีแบงก์ดูจะเป็นเพียงรัฐวิสาหกิจเดียวที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นเป็นไปตามแผน ทั้งในส่วนของการปล่อยสินเชื่อใหม่ และการบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และผลกำไร โดย ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ คนร.มีมติให้ออกจากแผนฟื้นฟู เนื่องจากมีผลประกอบการดีต่อเนื่องจากปี 2558-2560 และมีการทำระบบถ่วงดุลอำนาจ กระบวนการอำนวยสินเชื่อ ระบบบริหารความเสี่ยง จึงได้ให้กระทรวงการคลัง รับหน้าที่ดูแลต่อไป
แต่ในส่วนของ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์นั้น แม้คนร.จะเห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาของ ธนาคาร โดยให้มีการหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจธนาคารตามหลักชา รีอะฮ์เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการองค์กรอย่างมืออาชีพและเพิ่ม ความสามารถในการแข่งขัน
แต่กระนั้นความคืบหน้าของการดำเนินงานล่าสุดนั้น ธนาคารเพิ่งจะมีการแยกหนี้ดี-หนี้เสียและดำเนินการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในส่วนที่ไม่ใช่ลูกค้ามุสลิมไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้เท่านั้น ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กระทรวงการคลังปรับโครงสร้างทางการเงิน และรองรับการสรรหาพันธมิตร ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยไม่มีทีท่าว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด
รง.ยาสูบจ่อล้มละลายเข้าแผนฟื้นฟู
นับจากกระทรวงการคลังได้ยกเครื่องภาษีสรรพสามิตเหล้า-บุหรี่ ดีเดย์เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 ก็ทำเอาโรงงานยาสูบแปรสภาพจากองค์กรที่เคยสร้างเม็ดเงินและกำไร รวมทั้งนำส่งเงินรายได้เข้ารัฐติดทำเนียบ”ท็อป5” มาโดยตลอด ต้องแปรสภาพกลายเป็น “เศรษฐีตกอับ”จนต้องบากหน้าขอให้กระทรวงการคลัง กู้เงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน
ผลพวงจาก พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต 2560 ส่งผลให้ราคาบุหรี่ของโรงงานยาสูบต้องปรับราคาขายปลีกตั้งแต่ 3-20 บาทต่อซอง ขณะที่บุหรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศบางยี่ห้อปรับลดราคาลงด้วยซ้ำ ยังผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของโรงงานยาสูบที่เคยสูงกว่า 80% ไหลรูดลงมาเหลือไม่ถึง 65% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน
สำหรับ Logistics Time แล้ว เราไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ “ซูเปอร์บอร์ด”เองจะได้เคยย้อนกลับไปดูผลงานของตนเองหรือไม่ และประกาศิตที่เคยสำทับให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ บอร์ดรวมตลอดไปจนถึงผู้บริหารในกระทรวงต้นสังกัดที่ต้อง “รับผิดชอบร่วมกัน” หากการขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูกิจการล้มเหลว !