ครม.เคาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เอกชนเฮ!รับสิทธิ์จัดเก็บรายได้จากการพัฒนาพื้นที่โครงการ แถมรัฐสอดใส้เปิดทางเอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ก่อนแบบเทิร์นคีย์ ก่อนผ่อนจ่ายใน 10 ปี คาดเปิดให้บริการได้ปี 2566
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในรูปแบบการลงทุนภาครัฐร่วมเอกชนหรือ PPP Net Cost ระยะทาง 220 กิโลเมตร(กม.) ซึ่งเป็นโครงการที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนภาคเอกชนลงทุนในค่างานโยธา ค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า ค่าพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟฟ้าและบริการผู้โดยสารและค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรวมถึงการบริหารและซ่อมบำรุงโครงการ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นเวลา 50 ปี และเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสาร พร้อมจัดเก็บรายได้จากการพัฒนาพื้นที่โครงการ
ขณะเดียวกันครม.ยังได้อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มีอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชนที่ชนะการประมูล พร้อมอนุมัติค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการรถไฟความเร็วสูงกรอบวงเงินรวม 3,570.29ล้านบาท และอนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในวงเงินไม่เกิน 119,425.75ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าปัจจุบันตามที่ตกลงในสัญญาร่วมลงทุน โดยทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงทั้งระบบแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี โดยกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี นอกจากนี้ครม.ยังได้เห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เป็นจำนวนเงิน 22,558 ล้านบาท รวมทั้งเห็นชอบให้พื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงตั้งแต่สนามบินดอนเมืองถึงสุดเขตกรุงเทพฯรวมถึงสถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายนอกโครงการอีอีซี ให้รวมเป็นพื้นที่อยู่ในโครงการอีอีซีเพิ่มเติมด้วย
“โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ครม.อนุมัติในครั้งนี้ มีความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมง เชื่อมโยงสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภาเข้าด้วยกัน คาดว่าจะใช้เวลาจากสนามบินอู่ตะเภาเข้าสู่กรุงเทพฯภายในเวลา 45 นาที และยังเป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนา 3 จังหวัดในอีอีซีทั้งจ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มี 5 สถานีคือสถานีฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา ส่วนอัตราค่าโดยสารจากมักกะสันถึงพัทยาอยู่ที่ 270 บาท และจากมักกะสันถึงอู่ตะเภาอยู่ที่ 330 บาท และในอนาคตเฟสต่อไปของรถไฟความเร็วสูงจะเชื่อมจ.ระยอง จันทบุรี และตราด”
สำหรับขั้นตอนต่อไปคือร่างเงื่อนไขการประมูลหรือทีโออาร์ และสรรหาผู้ประมูล หลังจากนั้นจะเสนอครม.อีกครั้ง สำหรับกรอบเวลาที่กำหนดไว้ขั้นต้นจะประกาศเชิญชวนเอกชนภายในเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นในเดือนต.ค.จะได้เอกชนที่ผ่านการคัดเลือก และลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ในเดือนธ.ค.2561 พร้อมเปิดให้บริการเดินรถได้ในปี2566