กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ลูกหนี้ รวบรวมประชาชนร้องนายกฯเอาผิดลิสซิ่งนอกลู่ นอนแบงก์ที่ให้บริการเงินกู้ เงินด่วน เงินติดล้อ ที่จับประชาชนมัดตราสังขูดดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียมทางการเงินสูงลิ่ว ชี้สัญญาหมกเม็ดบังคับหลักประกันที่เข้าข่ายเป็นสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ ที่ต้องอยู่ในบังคับ พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯปี 2560 แต่ธุรกิจเหล่านี้กลับเพิกเฉยขูดรีดดอกเบี้ยประชาชนเอิกเกริก มีประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อถูกขูดรีดดอกเบี้ย ตามยึดทรัพย์นับแสนนับล้านราย
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 นายศุภวุฒิ อยู่วัฒนา ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ลูกหนี้ ได้นำตัวแทนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากบรรดาธุรกิจลิสซิ่ง สินเชื่อรถ และจักรยานยนต์ จำนำทะเบียน และสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหลาย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับบรรดาธุรกิจลิสซิ่ง ปล่อยสินเชื่อและเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) ตลอดจนผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยภายใต้การกำกับ(นาโนไฟแนนซ์) บางรายที่มีพฤติการณ์เอารัดเอาเปรียบประชาชน โดยมีการจัดทำสัญญาเงินกู้ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ขัดกฎหมาย เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าบริการเงินกู้ที่เอาเปรียบประชาชนและไม่เป็นไปตาม พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 รวมถึงขัดกฎหมายอื่น ๆ ด้วย
โดยนายศุภวุฒิ กล่าวว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดาธุรกิจปล่อยเงินกู้ต่างๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(Non-bank) ที่ให้บริการสินชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อส่วนบุคคล มีการดำเนินธุรกิจปล่อยเงินกู้ให้กับประชาชนที่เดือดร้อนต้องการเงิน โดยมีการจัดทำสัญญาเงินกู้ที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน กำหนดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสินเชื่อรถ และสัญญาเงินกู้ยืมประเภทต่างๆ ที่ธุรกิจเหล่านี้ทำไว้กับประชาชน ทั้งบริการเงินด่วน เงินติดล้อ หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และรถจักรยานยนต์ ต่างพบว่าผู้ประกอบการเหล่านี้ มีการจัดทำสัญญาหลบเลี่ยงและขัดกฎหมายเกือบทั้งหมด โดยจัดทำสัญญาในลักษณะที่เป็น “สัญญาเงินกู้แบบมีหลักประกัน” บังคับให้ลูกหนี้ต้องนำหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์หรือหลักประกันอื่น ๆ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีการกำหนดกำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เมื่อคำนวณเป็นเงินกู้ปกติแล้วจะสูงถึง 30-50% บางรายสูงเกิน 50% จนทำให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้ ถูกขูดรีดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงเกินจริง และหลายรายต้องถูกยึดรถ บ้าน ทรัพย์สินไปขายทอดตลาด จากการที่ไม่สามารถจะผ่อนชำระดอกเบี้ยสุดโหดได้
ตัวอย่าง หากพิจารณาถึงสัญญาเงินกู้ยืมบริษัทลิสซิ่งรายใหญ่ ที่อ้างว่า เป็นผู้นำด้านสินเชื่อรถ และสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีพอร์ตสูงหลายหมื่นล้านบาทนั้น จะพบว่า สินเชื่อรถยนต์หรือจักรยานยนต์ ที่บริษัททำกับลูกหนี้ประชาชนนั้น ไม่ใช่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ หรือสินเชื่อส่วนบุคคล (P loan) และสินเชื่อรายย่อยภายใต้การกำกับ(นาโน ไฟแนนซ์) ตามที่ผู้บริหารบริษัทกล่าวอ้าง แต่เป็นสัญญาเงินกู้ยืมที่บังคับเอาหลักประกันจากลูกหนี้ ในลักษณะมัดมือชก ที่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม ตลอดจตนค่าบริการทางการเงินที่สูงลิบลิ่ว ไม่เป็นไปตาม พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราปี 2475และปี 2560 และใบอนุญาตประกอบกิจการที่ได้รับจากทางการด้วยกันทั้งสิ้น
เพราะหากเป็นการกู้ยืมเงินตามปกติที่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อรายย่อย นาโนไฟแนนซ์ ย่อมไม่สามารถจะบังคับเอาทรัพย์สินของลูกหนี้มาเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ หากจัดทำเป็นสัญญาเงินกู้ปกติแบบมีหลักประกันย่อมต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2561 หรือหากจัดทำเป็นสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์หรือลิสซิ่งก็ต้องดำเนินการในลักษณะที่เป็นสัญญาเช่าซื้อที่ต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ครอบครอง และมีการจ่ายภาษีแวตเข้ารัฐที่ชัดเจน
ที่ผ่านมาทางกลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ลูกหนี้ได้พยายามเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เข้ามาตรวจสอบกรณีเหล่านี้ในทุกวิถีทาง แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้ามาดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง และไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง โดยธปท.เห็นว่า ธุรกิจเหล่านี้ ไม่ได้เป็นสถาบันการเงินภายใต้กำกับ แม้จะเป็นบริษัทลูกของแบงก์หรือสถาบันการเงิน แต่ไม่ถือเป็นสถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับจึงไม่สามารถจะเข้าไปตรวจสอบได้ ขณะที่ สคบ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ก็ไม่สามารถจะเข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวได้เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ และแม้ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย จะได้ออกประกาศเตือนไปยังกลุ่มธุรกิจการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ตลอิดจนผู้ให้บรืการสินเชื่อรายย่อยภายใต้การกำกับ แต่ก็จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้ประกอบการในระบบเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการนอกลู่อีกเป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ลูกหนี้ จึงได้รวบรวมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพฤติกรรมการเอารัดเอาเปรียบของบรรดานายทุนเงินกู้ทั้งในและนอกระบบเหล่านี้ เข้ายื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้มีบัญชาสั่งตั้งหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบเอาผิดกับบรรดาธุรกิจสินเชื่อรถ จำนำทะเบียน ตลอดจนธุรกิจนอน-แบงก์เหล่านี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นและพิทักษ์สิทธิ์ของลูกหนี้ไม่ให้ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบอีก โดยหากคำนวณความเสียหายที่ประเทศชาติ และประชาชนได้รับจากการดำเนินการของธุรกิจเหล่านี้ คาดว่า มีมูลค่านับแสนล้านบาท และมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนนับล้านราย ขณะที่ภาครัฐและกระทรวงการคลังเอง ก็ได้รับความเสียหายจากการที่ธุรกิจเหล่านี้มีการจัดทำสัญญาเงินกู้หลบเลี่ยง ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้รัฐขาดรายได้จากภาษีอากร มูลค่านับพันล้านหรือนับหมื่นล้านบาท