แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกโรงเตือนไปยังสถาบันการเงิน กลุ่มธุรกิจการเงินที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ให้ดูแลการเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าบริการต่างๆ ให้เหมาะสมเป็นไปตามประกาศ ธปท. หลังพบว่า มีผู้ให้บริการทางการเงินบางแห่งลักไก่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการไม่สอดคล้องประกาศที่ ธปท.กำหนด
แม้ประกาศของ ธปท. จะมุ่งคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงินไม่ให้ถูกเอาเปรียบ แต่ก็จำกัดอยู่แต่เฉพาะธุรกรรมทางการเงินที่อยู่ในกำกับตามไลเซนส์เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงธุรกรรมปล่อยกู้ จำนำทะเบียนรถ หรือให้สินเชื่อของนอนแบงก์อีกหลายประเภทที่หลีกเลี่ยงกฎหมายไม่มีการรายงานให้รัฐทราบ บางรายเป็นบริษัทลูกของแบงก์เองที่ผุดบริษัทขึ้นมาดำเนินการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถโดยเฉพาะ ขณะที่บางรายเป็นถึงบริษัทลิสซิ่งใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มี “มาร์เก็ตแค็ป” นับแสนล้านด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสัญญาเงินกู้ บริการเงินด่วน หรือเงินติดล้อที่ ธุรกิจเหล่านี้ทำไว้กับลูกหนี้ พบว่า นอกจาก จะมีการคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าบริการ อื่นๆ สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังบังคับเรียกหลักประกันเอาจากลูกหนี้ทั้งรถยนต์-จักรยานยนต์ โดยให้ลูกค้าเซ็นโอนลอยหลักประกันเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อที่ว่าหากลูกหนี้ผิดนัด ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาจะสามารถตามยึดหลักประกันไปขายทอดตลาดได้ทันที
นอกจากนี้ ธุรกิจเหล่านี้ยังงัดลูกเล่นใหม่ที่หลอกล่อให้ลูกหนี้จำนำทะเบียนรถระยะสั้นโดย จัดทำเป็นสัญญาเงินกู้ระยะสั้นแค่ 3-4 เดือนที่ลูกหนี้ยิ่งอยู่ในภาวะเสียเปรียบ เพราะนอกจากจะถูกตีมูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกันต่ำกว่าครึ่งของราคาตลาดแล้ว ยังเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงกว่าที่กฏหมายกำหนด และยังถูกบีบให้ต้องชำระค่างวดในอัตราสูงเพื่อหวังที่จะยึดหลักประกันลูกหนี้ไปขายทอดตลาดฟันกำไรอีกต่อ
“สัญญาเหล่านี้ ไม่ใช่ธุรกรรมปกติตามใบอนุญาตที่กล่าวอ้างกัน แต่เป็นสัญญาเงินกู้ทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 654 ที่ต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ปี 2560 ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% เท่านั้น ที่สำคัญประเด็นที่ซ่อนอยู่ภายใต้สัญญาที่บังคับให้ลูกหนี้เซ็นโอนลอยหลักประกันไว้หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระตามสัญญาจะถูกยึดหลักประกันไปขายทอดตลาดทันที โดยร้อยทั้งร้อยลูกหนี้ไม่มีโอกาสได้รับรู้เลยว่าเจ้าหนี้คิดเงินต้น ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่างๆ อย่างไร และเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดและหักชำระหนี้แล้วยังมีเงินเหลือคืนลูกหนี้หรือไม่ ทำให้กลายเป็นช่องทางทำมาหากินของกลุ่มคนเหล่านี้”
นอกจากนี้ สัญญาเงินกู้-จำนำทะเบียนที่ธุรกิจเหล่านี้ทำไว้กับลูกหนี้ทุกรายยังกำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้ยินยอมให้บริษัทมีสิทธิ์จะโอนสิทธิ์เรียกร้องความเป็นเจ้าหนี้ไปยังบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เพื่อที่บริษัทจะสามารถรวบรวมเอาสัญญาเงินกู้ จำนำทะเบียนรถเหล่านี้ไปแพ็คเป็นก้อนใหญ่นำไปค้ำประกันหนี้ต่อเพื่อระดมเงินมาปล่อยกู้ต่อ โดยลูกหนี้ไม่มีทางรู้เลยว่าสัญญาที่เซ็นไปนั้นจะถูกโอนไปอยู่ในมือใคร
“การดำเนินการดังกล่าวหากเกิดหนี้เสียขึ้นมาในหนี้กองใดกองหนึ่งจะส่งผลให้หนี้กองมรดกอื่นๆ เป็นลูกโซ่และจะทำให้ลูกหนี้ที่ชำระหนี้ครบถ้วนอาจไม่ได้หลักประกันคืน เช่นที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อหลายปีก่อน จนกลายเป็น “วิกฤติซับไพร์ม” จึงเป็นเรื่องที่คลังและ ธปท. ควรจะเร่งเข้ามาตรวจสอบก่อนที่ประเทศไทยจะเจริญรอยตาม”