แฉ! กลเม็ดลิสซิ่งรายใหญ่ บังคับลูกหนี้ทำสัญญาเงินกู้ พร้อมคิดดอกมหาโหด

0
756

แฉลิสซิ่งรายใหญ่ตัวดี จับลูกหนี้เช่าซื้อเลี่ยงไปทำสัญญาเงินกู้บังคับเอารถ-จักรยานยนต์ค้ำประกัน ก่อนส่งคนไล่ตามยึดรถขายทอดตลาดเป็นว่าเล่น กลุ่มประชาชนผู้เสียหายโผล่รวมตัวกันยื่นศูนย์ดำรงธรรม-ดีเอสไอ ไล่เบี้ยเอาผิด

หลังจากกระทรวงการคลังเตรียมล้อมคอกธุรกิจปล่อยเงินกู้เช่าซื้อและจำนำทะเบียนรถที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) โดยเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการการเงิน (นอกการกำกับ ธปท.) เพื่อจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรงนั้น ขณะนี้กลุ่มลูกหนี้เช่าซื้อและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากธุรกิจปล่อยเงินกู้บังคับเรียกหลักประกันเริ่มเคลื่อนไหวออกมาแฉโพยพฤติกรรมของธุรกิจเหล่านี้ โดยในสัปดาห์หน้า กลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนซึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์ลูกหนี้ จะเข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม สำนักนายกฯ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับบรรดาธุรกิจลิสซิ่งเช่า-ซื้อและจำนำทะเบียนรถ ตลอดจนผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยเหล่านี้ซึ่งมีการคิดดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมเกินกว่ากฎหมายกำหนด

1 ในกลุ่มผู้เสียหายได้ออกมาเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสัญญาเช่าซื้อของบริษัทลิสซิ่งรายใหญ่ของเมืองไทย ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีสาขาทั่วประเทศนับพันสาขาพบว่า สัญญาเช่าซื้อรถและจำนำทะเบียนรถที่บริษัทอ้างว่าดำเนินการถูกกฎหมายนั้น เป็นเพียงสัญญาให้กู้ยืมเงินที่มีการกำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้ต้องนำสินทรัพย์สิน อาทิ รถยนต์หรือจักรยานยนต์มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยจัดทำเป็นบันทึกข้อตกลงแนบท้ายบังคับให้ลูกหนี้เซ็นโอนกรรมสิทธิ์ไว้ล่วงหน้า

ขณะที่บริษัทที่อ้างว่าให้บริการจำนำทะเบียนรถและสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งคาร์ฟอร์แคช เงินติดล้อ ซึ่งมีทั้งที่เป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงินขนาดใหญ่และธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินต่างทำสัญญาในลักษณะเดียวกัน คือ ทำเป็นสัญญาเงินกู้ที่กำหนดให้ลูกหนี้ต้องนำรถยนต์หรือจักรยานยนต์มาเป็นหลักทรัพย์ประกัน มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมประกาศบนเว็บไซต์สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดรวมแล้วตั้งแต่ 20-50%

“สัญญาเช่าซื้อในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อตามกฎหมายเช่าซื้อ หรือสินเชื่อรายย่อยแบบนาโนและพิโก้ไฟแนนซ์ ที่ต้องเป็นสินเชื่อไร้หลักประกัน หรือ P loan แต่ถือเป็นสัญญาเงินกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 15% เท่านั้น แต่ที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านี้ต่างมัดมือชกบังคับลูกหนี้ทำสัญญา โดยไม่มีหน่วยงานใดแตะต้อง แต่จากการหารือผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมแล้ว ยืนยันว่า สามารถยื่นสอบสวนเอาผิดได้ทุกราย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเป็นรายกระทง”