เน็ตชายขอบกสทช. ส่งกลิ่นทะแม่ง หลัง “ไอ้โม่ง”โผล่ล็อบบี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) หวังดึงดาวเทียมนอกเสียบแทนไทยคม หวังยกร่างหลักเกณฑ์รองรับ ขณะวงการสื่อสารอัดยับใช้เงินกองทุนจากโอเปอเรเตอร์ไทยประเคนต่างชาติ
แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ที่ทนไม่ได้กับพฤติกรรมของบคคลกลุ่มหนึ่ง ที่อ้างชื่อผู้มีอำนาจในรัฐบาลและกระทรวงดีอี ได้ออกมาเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลโครงการติดตั้งและให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเตอร์เน็ตไวไฟในพื้นที่ชายขอบ หรือ “เน็ตชายขอบ” ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือกสทช. เปิดประมูลไปตั้งแต่ปลายปี 2559 และมีเป้าหมายจะเปิดให้บริการกลางปี 2561 นี้ โดยลงนามในสัญญากับบริษัทสื่อสารจำนวน 4 รายเพื่อติดตั้งเน็ตชายขอบ 8 โซนจำนวน 3,920 หมู่บ้าน ภายใต้วงเงิน 13,000 ล้านบาทนั้นว่า
“โครงการดังกล่าวยังคงเต็มไปด้วยความล่าช้าเมื่อเทียบกับโครงการเน็ตประชารัฐที่ติดตั้งแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการแล้ว”
โดยเฉพาะในส่วนที่บริษัททีโอทีดำเนินการนั้นจนถึงขณะนี้ยังไม่เริ่มต้น ล่าสุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ได้แจ้งเรื่องไปยัง รมว.กระทรวงดิจิทัล(ดีอี) เพื่อให้เร่งรัดบริษัททีโอทีเร่งติดตั้งโครงการดังกล่าวแล้ว เนื่องจากตามสัญญาจะต้องส่งมอบงานในงวดแรกในวันที่ 26 ก.พ.61ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ามีเพียงกลุ่มบริษัททรูมูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่นจำกัด และบริษัท อินเตอร์ ลิงค์ เทเลคอมจำกัด(มหาชน)ส่งมอบงานบางส่วนมาให้เท่านั้น ขณะที่บริษัททีโอทียังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากความล่าช้าในการประมูลหาผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการติดตั้งของทีโอทีแล้ว ยังมีกระแสข่าวว่ามีความพยายามที่จะกดดันจากบุคคลภายนอกกระทรวง ให้กระทรวงดีอีเร่งรีบการอนุมัติปรับเปลี่ยนสัญญาที่กำหนดให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมภายในประเทศเพื่อให้บริการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ มาเป็นการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมจากต่างประเทศเข้ามาให้บริการแทน โดยอ้างว่าได้มีการหารือในหลักการกับกระทรวงดีอีแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการยกร่างระเบียบรองรับ คาดจะแล้วเสร็จในช่วง 1-2 เดือนนี้
“พฤติกรรมกดดันให้กระทรวงดีอีเร่งรัดการยกร่างเปิดทางให้บริษัทสื่อสารเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมต่างประเทศเข้ามาหากินในประเทศในครั้งนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่เพียงจะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศเท่านั้น ภาครัฐยังไม่ได้ประโยชน์ใดๆ อีกด้วย เพราะไม่ว่าจะอย่างไรรัฐได้เซ็นสัญญากำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายในการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมไปหมดแล้ว หากต้นทุนเช่าเทียมต่ำลงจริง ภาครัฐก็ไม่ได้เงินคืนใดๆ จากผู้รับเหมาติดตั้งอยู่แล้ว”
ที่สำคัญขณะที่กระทรวงดีอี ตั้งป้อมไล่เบี้ยผู้ประกอบการดาวเทียมภายในประเทศ อย่างบริษัทไทยคมให้กลับไปอยู่ในระบบสัมปทานต้องจ่ายค่าสัมปทานแก่รัฐถึง 22% แต่กลับพยายามจะยกร่างยกระเบียบรองรับการใช้ดาวเทียมต่างชาติ ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแค่ 4%เท่านั้น ขณะที่ดาวเทียมในประเทศนอกจากต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 4% ยังจะถูกเรียกเก็บค่าสัมปทาน 22%ด้วยอีก
“แทนที่ กสทช. และดีอี จะสามารถเร่งรัดผู้รับเหมาให้เร่งรัดติดตั้งเน็ตชายขอบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเน็ตประชารัฐให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้สอดคล้องเป็นไปตามเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาลในการให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 แต่กลับมีความพยายามจะแก้ไขสัญญาที่ได้มีการลงนามกันไปแล้วตั้งแต่ปีมะโว้ หลายฝ่ายจึงเชื่อว่าน่าจะมีไอ้โม่งชักใยอยู่เบื้องหลัง เป็นการถลุงเม็ดเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม(กทปส.) ที่เก็บเงินจากโอปอเรเตอร์ไทยไปประเคนให้บริษัทดาวเทียมต่างชาติกับนายหน้าไทยดีๆนี่เอง”
ทั้งนี้ ”เน็ตชายขอบ”ของ กสทช.ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเน็ตประชารัฐซึ่ งจะดำเนินการในพื้นที่ชายขอบโซฯ C+ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน มูลค่า 13,000 ล้านบาท โดยกสทช.ลงนามกับบริษัทสื่อสารที่รับเหมาติดตั้งรวม 8 สัญญา ประกอบด้วยกลุ่มบริษัททรูจำนวน 3 สัญญา บริษัททีโอที 3 สัญญา ส่วนบริษัท กสทโทรคมนาคม และอินเตอร์ลิงค์เทเลคอมได้ไปคนละ1 สัญญา