เหลือบไปเห็นข่าว รมช.ว่าการกระทรวงการคลัง “นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” ออกมาตีปี๊บถึงร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยระบุว่า เริ่มได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว หลังผ่านความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
พร้อมกับยืนยันว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบปีในชั้นกรรมาธิการนั้น ได้มีการนำเอาข้อคิดเห็นต่าง ๆ มาปรับปรุง เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถในการชำระภาษี และมีความเต็มใจในการชำระภาษีด้วย และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณา สนช.ในวาระ 2 และ 3 ภายในเดือนมีนาคมศกนี้ และคงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันปี 2562 ซึ่งตามหลักการนั้นเมื่อกฎหมายผ่านขั้นตอนของสนช.แล้ว ต้องมีการจัดทำกฎหมายลูกโดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน หลังกฎหมายหลักมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ รมช.คลังยืนยันว่า การยกร่างกฎหมายฉบับนี้ กระทรวงการคลังไม่ได้ตั้งเป้าหมายในการจัดเก็บรายได้แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการดำเนินการเพื่อให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะกฎหมายเดิมคือ พรบ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินบังคับใช้มานาน
รมช.คลังยังยืนยัน หลักการของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่จะไม่ทำให้ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอี มีภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น โดยก่อนหน้านี้ทางกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาปรับลดเพดานภาษีลงมาแล้ว 40% รวมทั้งให้มีการยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับบ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 20 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท รัฐจะจัดเก็บในอัตรา 1 ล้านละ 100 บาท ส่วนบ้านหลังที่ 2 นั้นได้ปรับลดอัตราภาษีลงมาเหลือเพียง 1 ล้านละ 200 บาทเท่านั้น
ส่วนเกษตรกรจะเว้นภาษีสำหรับที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่ดินมูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปมีภาระภาษีล้านละ 100 บาท “เบื้องต้นคาดว่า กฎหมายดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10,000ล้านบาท แต่ตามแผนของกฎหมายจะมีทั้งการบรรเทาและแบ่งเบาภาระภาษีให้กับประชาชนในช่วง 3 ปีแรก เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นไม่เกิน 25% ต่อปี ทำให้รัฐบาลจะมีรายได้เพียงปีละ 2,500 ล้านบาท”
ขุดหลุมพรางสอดไส้ขยายฐานภาษี
หากพิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวโดยผิวเผิน ภาษีที่ดินใหม่คงไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนโดยทั่วไป เพราะประชาชนส่วนใหญ่ 90% ถือครองที่ดินที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 5-10 ล้านบาทที่ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว มีเพียงส่วนน้อยราว 10-20% เท่านั้นที่อาจได้รับผลกระทบ
แต่ในข้อเท็จจริงหากเป็นที่ดินสิ่งปลูกสร้างใจกลางเมืองย่านธุรกิจ อย่างสีลม สุรวงศ์ เจริญกรุง เยาวราช หรือสุขุมวิท หรือตามหัวเมืองใหญ่ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยานั้น พื้นที่ดินแค่ 100-200 ตร.วาย่านใจกลางเมืองเหล่านี้ ก็มีมูลค่าเป็น 20-30 หรือ 50 ล้านขึ้นไปแล้ว มีสิทธิ์โดนภาษีเต็มๆ
ยิ่งหากพิจารณาถ้อยแถลงของ รมช.คลังก็ยิ่งเห็นถึงความ “ย้อนแย้ง”ได้ชัด ขนาดยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่ได้ตั้งเป้าหมายในการจัดเก็บรายได้จากภาษีดังกล่าว แถมมีมาตรการบรรเทาภาระภาษีให้ประชาชนสารพัดรูปแบบในช่วง 1-3 ปีแรกแล้ว กระทรวงการคลังยังคาดจะมีรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่นี้กว่า 2,500 ล้านบาท
หากพ้นกำหนด 3 ปีต้องกลับมาจัดเก็บเต็มเพดานภาษีที่ตั้งไว้มันจะไม่ทะลักไปเป็น 10,000 ล้านบาทหรือ?
กับบรรดามาตรการบรรเทาภาระภาษีที่ีคลังอ้างถึง ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดมูลค่าราคาบ้านที่อยู่อาศัยที่ได้รับยกเว้นสำหรับ “บ้านหลังแรก”จาก 50ล้านบาทเหลือ 20 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทจึงจะเสียภาษีในอัตรา 1ล้านละ 100 บาท (0.0001) ในระยะ 3 ปีแรก รวมทั้ง ยังอ้างว่ากฎหมายใหม่ที่จะออกมาได้กำหนดระยะเวลาปรับตัวหรือ Grace period ให้ถึง 3 ปี โดยจะจัดเก็บภาษีในปีแรกในอัตราร้อยละ 25 ปีที่ 2 เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 50 และปีที่ 3 จึงจะจัดเก็บตามเพดานภาษีที่กำหนด
แต่กระทรวงการคลังคงลืมไปว่าในร่างกฎหมายเดิมได้เสนอยกเว้นบ้านหลังแรกให้ถึง 50 ล้านบาท การที่คณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายดังกล่าวปรับลดมูลค่าบ้านที่อยู่อาศัยลงมาเหลือ 20 ล้านบาทนั้น มันหาใช่มาตรการบรรเทาภาระภาษี แต่นี่คือการขยายฐานภาษีลากเอาประชาชนคนไทยโดยทั่วไปให้เข้าไปแบกรับภาษีกันถ้วนหน้าต่างหาก
“การปรับลดราคาบ้านที่จะได้รับยกเว้นภาษีลงมาเหลือ 20 ล้านนั้น ทำให้บ้านที่อยู่อาศัยในเขตเมือง ย่านใจกลางเมืองใจกลางธุรกิจทั้งหลาย ทั้งในกรุงเทพ-ต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ –เมืองรองที่แต่เดิมได้รับยกเว้นเพราะไม่เกิน 50 ล้านบาทนั้น ตามร่างใหม่นี้จะถูกลากเข้ามาสู่ระบบกันหมด เอาแค่ที่ดินใจกลางเมืองย่านสีลม ชิดลม เยาวราช สำเพ็ง สุขุมวิท หรือจะเชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ตและพัทยา ที่ดินเปล่าแค่ 50 ตร.วาก็มีสิทธิเข้าข่ายต้องถูกเรียกเก็บภาษีแล้ว”
ขณะที่บรรดาหอพัก ห้อง/บ้านเช่า อพาร์ทเมนท์ ที่จะได้รับการบรรเทาภาระภาษีนั้นแม้กระทรวงการคลังจะอ้างว่า มีมาตรการบรรเทาให้ โดยจะคิดอัตราภาษีบนพื้นฐานเดียวกับที่พักอาศัยแต่จะต้องเป็นกรณีของการทำสัญญาเช่าระยะยาว ซ่ึงยังไม่กำหนดเวลาที่ชัดเจน จะเป็น 6 เดือนหรือ 1 ปีขึ้นไป แต่หากผู้ให้เช่าหรือเจ้าของบ้านจดแจ้งและรายงานเรื่องสัญญาเช่าดังกล่าวก็หนีไม่พ้นจะต้องถูดรีดภาษีเงินได้อยู่ดี
กลายเป็นว่ามาตรการบรรเทาภาระภาษีที่ว่านั้น แทบไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนเพราะคลังได้ขยายฐานภาษีไปครอบคลุมผู้คนกว่าครึ่งค่อนประเทศไปแล้ว
ร้านค้า ปั๊ม อพาร์ทเมนท์ในเมืองจ่อสูญพันธ์
สิ่งที่ประชาชนคนไทยต้องตระหนักเมื่อรัฐและกระทรวงการคลังสุมหัวทำคลอดกฎหมายฉบับนี้ออกมาก็คือแต่เดิมบ้านที่อยู่อาศัยของเรานั้น แทบไม่มีการแยกแยะว่าเป็นบ้านที่อยู่อาศัย หรือทำกิจการค้าเชิงพาณิชยกรรม แต่กฎหมายใหม่น้ัน ได้แยกประเภทการใช้ที่ดินเอาไว้อย่างชัดเจน
กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากภาษีใหม่ในทันที ก็คือกิจการวิสาหกิจขนาดย่อม SME ที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่”เปราะบาง” อยู่แล้วจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกิจการที่มีที่ดินมากแต่ให้ผลตอบแทนต่ำ อาทิ สถานีบริการน้ำมัน-แก๊ส กิจการคาร์แคร์ ตลาดสดใจกลางเมือง อพาร์ทเมนต์ สถานที่จอดรถ โรงเรียนสถานศึกษาเอกชน หรือกิจการห้องแถวขายข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยวที่ตั้งอยู่ในทำเลทองทั้งหลายที่เดิมไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือเสียในอัตราที่ต่ำมาก
เมื่อต้องถูกประเมินและเสียภาษีตามโครงสร้างภาษีใหม่ รายได้จากค่าเช่าและการประกอบกิจการค้าขายเล็กๆน้อยๆที่ได้เหล่านี้จะไม่คุ้มภาระภาษีที่ต้องแบกรับ จนสุดท้ายอาจต้องเลือกปิดกิจการ หรือขายที่ดินออกไป
“ตัวอย่างลุงตู่มีที่แปลงเล็กๆ 100 ตร.วาแถวสีลม-ประตูน้ำ สุขุมวิท ประเมินแค่วาละ 200,000 แสนก็ปาเข้าไป 20 ล้านแล้ว หากเจ้าตัวอยู่อาศัยด้วย ที่ว่างที่พอมีให้เขาเช่าจอดรถ ทำคาร์แคร์ หรือเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเล็กๆน้อยๆ มีรายได้จากค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาทตกปีละ 240,000 บาท ถ้า กม.ถือว่าเป็นที่อยู่อาศัยเก็บภาษี 0.02% ปีละ 20,000 บาทค่าเช่าเล็กๆน้อยๆที่ได้ก็อาจพออยู่ได้ แต่หากกทม.ที่เป็นคนประเมินถือว่าทำธุรกิจเรียกเก็บ0.3%-0.5%ของมูลค่าทรัพย์สินภาระภาษีจะพุ่งเป็น 200,000บาทต่อปีทันที”
หรือสถานีบริการน้ำมัน-แก๊สในเขตกรุงเทพฯหัวเมืองต่างจังหวัด อพาร์ทเมนท์ ที่ปกติต้องมีที่ 1-3 ไร่ขึ้นเมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกม และต้องถูกประเมินราคาที่ดินใหม่ แค่ที่ดิน 400 ตร.วาหรือ 1 ไร่ในกรุงเทพหรือชานเมืองอย่างน้อยวาละ 200,000 ก็ปาเข้าไปไร่ละ 80 ล้านบาทแล้ว ธุรกิจที่ใช้ที่ดินมูลค่าสูง แต่มีรายได้ต่ำในลักษณะเช่นนี้จะไม่สามารถอยู่ได้ท้ายที่สุดจะถูกบังคับ (Force) ขายออกไป
จำคุก-โทษอาญา เครื่องมือของใคร
เหนือสิ่งอื่นใด ส่ิงที่กระทรวงการคลังไม่ได้ให้คำตอบผู้คนในสังคมก็คือ ในส่วนของผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำส่ังเจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายน้ัน ในกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดบทลงโทษทางอาญาเอาไว้ด้วย “แปลให้ง่ายก็คือ การครอบครองที่ดินนับจากนี้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยชีวิตต่างแขวนอยู่บนเส้นด้ายมีสิทธิ์ติดคุกเอาได้ทุกเมื่อ เพราะกฎหมายใหมj ให้อำนาจองค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.)เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งการประเมิน เรียกเก็บภาษี โดยให้ถือเป็นรายได้ท้องถิ่น ทั้งยังให้อำนาจ อปท. ยึด อายัด และขายทอดตลาดได้เองอีกด้วย
“ในกรณีที่อปท.ได้แจ้งให้เจ้าของที่ดินไปชำระภาษีตามเวลาที่กำหนด หากเจ้าของไม่ดำเนินการไม่เพียงจะถูกเรียกเบี้ยปรับตั้งแต่ 25-50% แล้วยังอาจถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มรายเดือนได้อีก”
ที่สำคัญยังกำหนดระวางโทษทางอาญา กรณีไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของเจ้าพนักงาน ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซ่ึงมีทั้งโทษจำ-ปรับ หรือกรณีเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยไม่แจ้งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือการโอนย้ายทรัพย์สินให้บุคคลอื่นเมื่อผู้บริหารท้องถ่ินส่ังยึด อายัดเอาไว้ ซ่ึงมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
รวมทั้งกรณีที่ หากเจ้าของที่ดินแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 60,000 บาท ซ่ึงถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คดีหลีกเลี่ยงภาษี จะมีโทษทางอาญาพ่วงด้วย
ถือเป็นจุดอันตรายที่สุดของกฎหมายฉบับนี้ เพราะนิยามของการแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนั้นเป็นเรื่องครอบจักรวาลที่อาจเกิดกับเจ้าของที่ดินเอาได้ทุกเมื่อ แค่คุณไปแจ้งเสียภาษีไม่ตรงกับที่เจ้าหน้าที่ประเมินไว้ ก็อาจมีโทษจำคุกแล้ว”