“อาคม'” มอบนโยบาย ”ม้าเหล็ก’ ฝันหวานปี 70 ขนส่งสินค้าเพิ่ม 30 ล้านตัน ผู้โดยสารเพิ่ม 80 ล้านคน

0
196

“อาคม” มอบนโยบายการรถไฟฯ เข้มต้องรีดศักยภาพเต็มกำลังในทุกมิติ หวังพุ่งชนเป้าลดต้นทุนขนส่ง ฝันหวานปี 70 หลังทางคุ่เฟส 1-2 แล้วเสร็จ ดันปริมาณขนส่งสินค้าเพิ่มปีละ 30 ล้านต้น ปั้มผู้โดยสารเพิ่มปีละ 80 ล้านคน  จี้เร่งพัฒนาองค์กรเติมเต็มศักยภาพบุคลากร ชี้จะเร่งพิจารณาเพิ่มอัตรากำลังพนักงาน ย้ำต้องยกระดับการศึกษาโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟเทียบเท่าป.ตรีในสาขาระบบการขนส่งทางราง หวังสร้างบุคลากรรองรับงาน-โครงการใหม่ในอนาคต 

นายอาคมฯ เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังมอบนโยบายและติดตามการดำเนินงาน ภายหลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายการดำเนินงานให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าตนได้มอบนโยบายและให้กำลังใจพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ เนื่องจากการรถไฟฯ มีภารกิจที่ต้องดำเนินการเป็นจำนวนมาก โดยบทบาทสำคัญของการรถไฟฯ ที่จะเกิดขึ้นและเห็นผลเป็นรูปธรรมในอนาคต คือ สามารถลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2570 เมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เสร็จเรียบร้อย จะสามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งได้ 30 ล้านตัน จากปัจจุบัน 10 ล้านตันต่อปี และสามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการได้ปีละ 80 ล้านคน

“ซึ่งจะเปลี่ยนการให้บริการขบวนรถจากเดิมที่มีอยู่ แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ Premium Train คือขบวนรถระยะทางไกล ที่ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 4 ชั่วโมง เช่น กรุงเทพ – หนองคาย จะใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง ขบวนรถ Overnight Train ขบวนรถระยะไกล ที่ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง ขบวนรถ Inter City ขบวนรถระหว่างเมืองที่มีระยะทางไม่เกิน 500 กิโลเมตร เช่น กรุงเทพ – นครสวรรค์ หรือ ขอนแก่น – หนองคาย และขบวนรถชานเมือง เช่น รถไฟสายสีแดง และจะให้การรถไฟฯ ศึกษาความเหมาะสมการออกแบบรถไฟฟ้า โดยใช้โครงสร้างทางเดิมที่มีอยู่ แต่เปลี่ยนหัวรถจักรเป็นรถไฟฟ้า เพื่อลดการใช้พลังงานน้ำมัน โดยจะพิจารณาใน 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพ – นครราชสีมา กรุงเทพ – หัวหิน กรุงเทพ – นครสวรรค์”

นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายการพัฒนาองค์กร ด้านบุคลากร ให้กับการรถไฟฯ ที่ปัจจุบันประสบปัญหาการขาดแคลนบุคคลกรเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดการพิจารณาเรื่องการเพิ่มอัตรากำลังพนักงาน โดยจะนำเสนอ ครม. เพื่อขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ที่กำหนดให้สามารถรับพนักงานใหม่เพิ่มได้เพียง 5% ของพนักงานที่เกษียณอายุราชการ และจะยกระดับการศึกษาของโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ ให้เป็นโรงเรียนเทียบเท่าการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งทางราง ในการสร้างบุคคลที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับงาน เพื่อรองรับโครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง