“ทีดีอาร์ไอ” ส่งผลศึกษา‘ไรด์แชริ่ง’ เปิดทางขับอูเบอร์ถูกกฎหมาย

0
217
ทีดีอาร์ไอส่งผลศึกษาเรื่อง ‘ไรด์แชริ่ง’ เปิดทางขับอูเบอร์ถูกกฎหมาย โดยผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นต้องขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ ด้านคนขับต้องมีใบขับขี่สาธารณะ เสียค่าธรรมเนียมรายปี และตรวจสภาพรถถี่ขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย คาดกรมการขนส่งฯ สรุปประเด็นเสนอให้คมนาคมตัดสินใจในเดือน พ.ค. นี้
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ทีดีอาร์ไอได้ส่งผลการศึกษาเรื่องระบบร่วมเดินทาง (Ride Sharing) ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) แล้ว โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้พิจารณาตัวอย่างจากหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ก่อนสรุปเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศไทย ทั้งนี้ระบบดังกล่าวจะทำให้ ประชาชนมีระบบไรด์แชร์ริ่งเป็นทางเลือกในการเดินทาง โดยภาครัฐสามารถควบคุมคุณภาพของไรด์แชริ่ง และดูแลไม่ให้ไรด์แชริ่งได้เปรียบกลุ่มรถแท็กซี่เดิม ขณะเดียวกันต้องกระตุ้นรถแท็กซี่ให้ปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นด้วย
ทั้งนี้ในผลการศึกษาได้เสนอแนวทางดำเนินการที่เหมาะสม 4 ด้าน ได้แก่ 1. ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นไรด์แชริ่งจะต้องขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ เพื่อให้มีการกำกับดูแลในด้านต่าง ๆ เช่น การเก็บค่าใช้จ่ายและค่าโดยสาร การจัดการกับข้อร้องเรียน เป็นต้น   2. ผู้ให้บริการไรด์แชริ่งต้องมีใบขับขี่สาธารณะ เพราะไม่ได้ขับรถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถป้ายดำเพียงอย่างเดียว 3. รถป้ายดำที่ให้บริการไรด์แชริ่งต้องจดทะเบียนแจ้งกับกรมการขนส่งฯ และต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากปกติ เช่น รถป้ายดำทั่วไปต้องชำระภาษี 1,000-2,000 บาทต่อคันต่อปี แต่ถ้านำมาให้บริการไรด์แชริ่งด้วย ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเล็กน้อย อาจจะเป็น 500-1,000 บาทต่อคันต่อปี จากนั้นจะได้รับสติ๊กเกอร์แสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นรถแบบไรด์แชริ่ง
อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษามั่นใจว่า มาตรการดังกล่าวจะลดความเลื่อมล้ำเรื่องต้นทุนระหว่างบริการไรด์แชริ่งและรถแท็กซี่แบบดั้งเดิม เพราะรถแท็กซี่มีภาระต้องติดตั้งอุปกรณ์ส่วนควบตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งฯ ชุดละ 20,000-30,000 บาทต่อคัน อายุใช้งาน 9-10 ปี หรือมีต้นทุนติดตั้งอุปกรณ์เฉลี่ย 2,000-3,000 บาทต่อปี แต่บริการไรด์แชริ่งไม่ต้องรับภาระดังกล่าวเลย
ดังนั้นภาครัฐจึงควรเก็บค่าธรรมเนียมจากรถบ้านที่ให้บริการไรด์แชริ่งเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เก็บในอัตราสูงเท่ารถแท็กซี่ เพราะไรด์แชริ่งจะให้บริการเป็นบางเวลาเท่านั้น โดยมาตรการนี้ได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว
สำหรับค่าธรรมเนียมที่เก็บจากไรด์แชริ่ง อาจนำไปเป็นงบประมาณของภาครัฐหรือนำเข้ากองทุนต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับนโยบาย แต่เบื้องต้นเห็นว่าควรนำเข้ารัฐมากกว่า เพราะมีความยุ่งยากน้อยกว่า การแก้ไขกฎหมายก็ดำเนินการในระดับกฎกระทรวง แต่ถ้านำค่าธรรมเนียมไรด์แชริ่งไปเข้ากองทุนต่าง ๆ ก็คงต้องแก้ไขในขั้นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมาก
4. ขอให้แอพพลิเคชั่นไรด์แชริ่งต่าง ๆ เพิ่มมาตรการความปลอดภัย เช่น ทำประกันภัยความเสี่ยงจากการเดินทาง หรือเพิ่มปุ่มฉุกเฉินในแอพพลิเคชั่น คล้ายกับโครงการรถแท็กซี่โอเค/วีไอพีของกรมการขนส่งฯ ที่กำหนดให้แท็กซี่ทุกคันต้องติดตั้งปุ่มฉุกเฉินภายในตัวรถ เป็นต้น นอกจากนี้รถป้ายดำที่ให้บริการไรด์แชริ่งจะต้องตรวจสภาพถี่ขึ้น จากเดิม 7 ปีต่อครั้ง เป็นตรวจสอบสภาพทุกปี
นายสุเมธ กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าประเทศอื่นมาในแนวทางนี้เกือบหมด เช่น สิงคโปร์กำหนดให้รถต้องจดทะเบียนใหม่ สิงคโปร์และมาเลเซียก็บังคับให้ใช้ใบขับขี่สาธารณะ ทุกประเทศไม่มีใครให้ใช้ใบขับขี่ส่วนบุคคล บางประเทศกำหนดใบขับขี่ประเภทใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่บางประเทศให้ใช้ใบขับขี่สาธารณะ สำหรับประเทศไทยเห็นว่าควรใช้ใบขับขี่สาธารณะเลย เพราะสามารถขับรถได้ทุกประเภทและไม่ต้องยุ่งยากกำหนดประเภทใบขับขี่ใหม่” นายสุเมธกล่าว
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ทีดีอาร์ไอจะต้องหารือกับกรมการขนส่งทางบก ว่า มีความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไร จากนั้นจะนำผลการศึกษาไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งประชาชน, ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นไรด์แชริ่ง และกลุ่มรถแท็กซี่ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนและนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ประมาณเดือน พ.ค. นี้ ว่าจะดำเนินการหรือปรับแก้กฎหมายอย่างไร
“ถ้าหากภาครัฐดำเนินการตามผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอทั้งหมด ก็จะแก้ไขกฎกระทรวงซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน หรือภาครัฐอาจจะตัดสินใจใช้ทางเลือกอื่น ๆ ตามความเหมาะสม แต่เบื้องต้นจะหลีกเลี่ยงการแก้ไขกฎหมายในชั้น พ.ร.บ. เพราะต้องใช้เวลาขั้นต่ำ 6 เดือน หรืออาจจะมากกว่า 1 ปี กว่าจะประกาศใช้ได้จริง”
Cr.ภาพประกอบจาก Thaiuber