“สุรงค์ บูลกุล ” ลุยตรวจท่าเรือแหลมฉบัง คาดเปิดประมูลเฟส 3 เดือนสิงหาฯนี้

0
376

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส3  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก( EEC )  ได้ชื่อว่าเป็นอีก 1 โครงการสำคัญของรัฐบาล โดยตั้งเป้าจะช่วยเพิ่มศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันรองรับการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือแห่งนี้จาก11ล้าน TEU ต่อปี เป็น 18ล้านTEU ต่อปี

แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียง เขตเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่เป็นแผนเร่งด่วนที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าสู่เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และ สปป.ลาว   นอกจากนี้ ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการคมนาคม ขนส่ง และกระจายสินค้าตลอดจนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียอีกด้วย แต่ความคืบหน้าขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวจนถึงขณะนี้ก้าวหน้าไปถึงไหน

ล่าสุด นายสุรงค์ บูลกุล  ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมด้วยคณะกรรมการกทท.ได้เดินตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและมอบนโยบายให้ผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 256 ที่ผ่านมา และกล่าวว่า  การท่าเรือฯมอบนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินงาน 3 ข้อ คือ Connectivity Competitiveness และบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดต้นทุนทางด้านการขนส่งให้ต่ำลง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ขณะเดียวกัน ในส่วนโครงการการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 ซึ่งเป็นโครงการที่ทางรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่ได้มอบนโยบายให้กทท.เดินหน้าเร่งรัดโดยเร็ว

ดังนั้น ปีนี้สิ่งที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วน 3 ข้อนั่นคือ   1 การเปิดประมูลก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ปีนี้  การดำเนินงานระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถ ทางระบบรางหรือรถไฟ และทางเรือ 2. เร่งรัดพัฒนาเส้นทางขนส่งทางสินค้าทางรถไฟ ซึ่งคาดว่าระยะแรกจะดำเนินการได้ในปีนี้  เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าประมาณ 30% หรือ 6 ล้านTEUต่อปี และ3.ด้านการพัฒนาระบบอู่ต่อเรือที่ทันสมัยรองรับปริมาณสินค้าในอนาคต

“ การดำเนินงานพัฒนาท่าเรือของเรากำลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนจากการขนถ่ายสินค้านำเข้า ส่งออก เป็นเชื่อมโยงระบบขนส่ง Connectivity เชี่ยมโยง 3 ระบบขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อีกทั้งท่าเรือจะมีบทบาทสำคัญในเพิ่มประสิทธิภาพการไปต่างประเทศไม่ใช่เฉพาะภูมิภาคเท่านั้น แต่ทุกประเทศทั่วโลก  และนำไปสู่การพัฒนาภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0   และในปีนี้จะเปิดประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะทำให้เพิ่มศักยภาพรองรับปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า 18 ล้านTEUต่อปี  ”

ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ว่า    ขั้นตอนการดำเนินขณะนี้จะเป็นการศึกษาผลกระทบทางสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม (EHIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม  หลังจากนั้นจะสามารถเปิดการประมูลงานก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบับเฟส3 ได้คาดว่าประมาณเดือนสิงหาคม  2561 นี้   อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่มีประมาณ 2,000 ไร่ ความยาวท่าเรือ 4,500 เมตร มีท่าเทียบเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่า ท่าเรียบเรือชายฝั่ง 1 ท่า และท่าเทียบเรือตู้สินค้า 4 ท่า สามารถรองรับทั้งปริมาณเรือและตู้สินค้าได้สูงถึง 18 ล้าน TEU/ปี

นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง โดยศึกษาครอบคลุมระยะต่างๆ ได้แก่ ระยะก่อนก่อสร้าง และระยะก่อสร้าง สามารถแบ่งได้ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านเศรษฐกิจ-สังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน  2.ด้านการกัดเซาะและการทับถมของตะกอนชายฝั่ง เช่น ควบคุมการตอกเสาเข็มให้แล้วเสร็จ   3.ด้านมลพิษทางอากาศ เสียง และการสั่นสะเทือน เช่น ก่อสร้างรั้วปิดล้อมรอบบริเวณพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่ใกล้ชุมชนหรือพื้นที่กองวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น