ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือคนจนเฟส 2 รวม 34 โครงการ จัดทีมเจ้าหน้าที่ประกบคนจนรายตัววางแผนที่ชีวิตให้ หากเข้าโปรแกรมพัฒนาคุณภาพชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือรายเดือนเพิ่มอีกเดือนละ 300 บาทจากเดิม 200 บาท เป็น 500 บาท สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี และเพิ่มอีก 100 บาท สำหรับคนมีรายได้ 30,000-100,000 บาทต่อปี หวังให้คนจน 5.3 ล้านคนพ้นจากเส้นความยากจน
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือระยะที่ 2 แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนทั้งสิ้น 34 โครงการ งบประมาณรวม 35,679.09 ล้านบาท ประกอบด้วยงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับบริหารจัดการ 2,999.17 ล้านบาท งบประมาณสำหรับโครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต 18,807.41 ล้านบาท งบประมาณสำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด 13,872.51 ล้านบาท โดยงบประมาณ 35,679.09 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือคนจนระยะที่ 2 นี้จะมีส่วนช่วยให้ผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ขยายตัวได้ 0.06%
“มาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเฟสที่ 1 มีการช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ ทั้ง ค่ารถโดยสาร ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นการช่วยบรรเทาภาระของผู้มีรายได้น้อย แต่เฟส 2 ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยพัฒนาตนเองด้วย สอนให้ตกปลาได้ไม่ใช่แจกปลาอย่างเดียว การจะได้รับความช่วยเหลือจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด”
สำหรับโครงการช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเฟส 2 ทั้ง 34 โครงการ แบ่งเป็น 4 ด้านคือ โครงการด้านการมีงานทำ 5 โครงการ,โครงการฝึกอบรมและการศึกษา 10 โครงการ, โครงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ 11 โครงการ และโครงการเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน 8 โครงการ เป็นความร่วมมือของ 13 หน่วยงานคือ 6 กระทรวง 3 ธนาคาร 2 กองทุนและ 2 หน่วยงาน ซึ่งในส่วนของโครงการด้านการมีงานทำมีโครงการสำคัญเช่น การจัดหางานในประเทศและต่างประเทศโดยกระทรวงแรงงาน โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อยโดยกระทรวงพาณิชย์ โครงการตลาดประชารัฐโดยกระทรวงมหาดไทย ส่วนโครงการฝึกอบรมและการศึกษามีโครงการสำคัญ เช่น โครงการฝึกอาชีพเร่งด่วนเอนกประสงค์ โครงการช่างชุมชน โดยกระทรวงแรงงาน โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โครงการมหาวิทยาลัยประชาชนโดยธนาคารออมสิน โครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกรลูกค้าผู้มีรายได้น้อยโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)
ส่วนโครงการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบมีโครงการที่สำคัญคือ โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อยโดยธ.ก.ส. โครงการสินเชื่อเพื่อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ โครงการสินเชื่อสตรีทฟู้ดโดยธนาคารออมสิน สำหรับโครงการเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน มีโครงการสำคัญคือโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) การออมเพื่อการเกษียณอายุสำหรับแรงงานนอกระบบโดยกองทุนการออมแห่งชาติ
นายณัฐพรกล่าวว่า โครงการทั้งหมดนี้จะเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้อย่างน้อย 4.7 ล้านคน ซึ่งผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ต่อปี และอายุน้อยกว่า 60 ปี มีอยู่ประมาณ 5.3 ล้านคน ดังนั้นจึงมีมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 5.3 ล้านคน โดยรัฐบาลจะมีมาตรการจูงใจ 2 ส่วนคือ มาตรการแรก เป็นมาตรการจูงใจให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแสดงความประสงค์ที่จะพัฒนาตนเองในแบบประเมิน โดยให้มาหารือกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(Account Officer: AO) ซึ่งจะได้รับคำแนะนำว่าควรเข้าร่วมโครงการไหนบ้างและจะพัฒนาตนเองอย่างไร หากแสดงความจำนงที่จะพัฒนาตนเองสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน จะได้รับวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 200 บาทต่อเดือนจากปัจจุบัน 300 บาทต่อเดือนเพิ่มเป็น 500 บาทต่อเดือน ส่วนผู้มีรายได้เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับวงเงินเพิ่มเติมอีก 100 บาทต่อเดือนเพิ่มจาก 200 บาทต่อเดือนเป็น 300 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นมาตรการจูงใจนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล ที่ทำการฝึกทักษะฝีมือให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายที่นายจ้างจ่ายไปเป็นรายจ่ายในการฝึกทักษะอาชีพ และรายจ่ายที่นายจ้างได้จ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยการจ่ายค่าจ้างผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยต้องเป็นรายจ่ายที่ไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างในบริษัทหรือนิติบุคคลแห่งนั้น ซึ่งลูกจ้างต้องยินยอมให้จ่ายเงินค่าจ้างผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้รัฐทราบว่ามีการพัฒนาตนเองไปอย่างไรบ้าง มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ สำหรับมาตรการภาษีนิติบุคคลจะเริ่มตั้งแต่รอบบัญชีวันที่ 1ม.ค.2561-31ธ.ค.2562
ขณะเดียวกันครม.ยังได้อนุมัติโครงสร้างการดำเนินงาน โดยอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คนส.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ,คณะอนุกรรมการติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คอต.) ทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้าและผลการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคล,คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำจังหวัด (คอจ.) ทำหน้าที่แต่งตั้ง กำกับดูแล และกำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน และการลงพื้นที่ของคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการ แห่งรัฐประจำอำเภอ และมอบหมายและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคล และคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำอำเภอ หรือ“ทีมหมอประชารัฐสุขใจ (ทีม ปรจ.)” ประกอบด้วยคณะทำงานระดับอำเภอ และผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (AO) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เหมาะสมและสอดคล้องตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล จะเป็นพนักงานของธนาคารออมสินจำนวน 20,000 คน และธ.ก.ส.จำนวน 8,000-9,000 คนเป็นหลักและจะจ้างเพิ่มเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง
“จุดเด่นของมาตรการครั้งนี้คือเป็นครั้งแรกที่บูรณาการความร่วมมือ และเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบไม่เหวี่ยงแห มีเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นการออกแบบแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยทีมเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และเสนอแนะแผนที่ชีวิตให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและยังมีการบันทึกและติดตามผลสัมฤทธิ์อย่างใกล้ชิด หวังว่าครั้งนี้จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ผู้มีรายได้น้อยสามารถพัฒนาตนเองได้”
ทั้งนี้ทางกระทรวงการคลังจะส่งข้อมูลของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กรรมการประจำจังหวัดภายในเดือนม.ค.นี้ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ต้องการพัฒนาตนเองจะมาพบกับทีมเจ้าหน้าที่เพื่อสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลในเดือนก.พ.2561 หากไม่มาทีมเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ไปหาถึงบ้าน ลงพื้นที่สัมภาษณ์เป็นรายบุคคลภายในเดือนเม.ย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการพัฒนาเป็นรายบุคคลภายในเดือนส.ค. และทีมเจ้าหน้าที่จะติดตามการพัฒนาเป็นระยะจนถึงเดือนก.ย.จากนั้นคณะกรรมการระดับคต.ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานจะติดตามผลการพัฒนาภายในเดือนต.ค.และจะสรุปผลการพัฒนาเป็นรายบุคคลภายในเดือนธ.ค.2561 ซึ่งเป้าหมายคือผู้ที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีหรือวันละ 80 บาทที่ถือว่าต่ำกว่าเส้นความยากจน หากดำเนินการตามมาตรการและมีอาชีพจะหลุดจากเส้นความยากจนไปได้ อย่างไรก็ตามปัญหาความยากจนไม่ได้เกิดจากรายได้ด้านเดียว ยังมีปัญหาเรื่องรายจ่ายและหนี้สินด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยวางแผนชีวิตให้