ทรูมูฟ -เอไอเอส ลงเรือลำเดียวกัน ขอ”คสช.” ขยายเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 900 ออกไปอีก 6 งวด เหตุต้องการนำเงินไปลงทุนเพิ่ม “ฐากร” ชงบอร์ดเคาะ 27 ธ.ค.นี้ ส่วนแนวทางช่วยเหลือทีวีดิจิทัล ถึงมือคสช.แล้ว ทั้งเสนอพักจ่ายค่าประมูล 3ปี และช่วยออกค่าเช่าโครงข่ายให้50% ส่วนการจ่ายชดเชยเยียวยากรณีคสช.ใช้เวลาของทีวีไปนั้น รอไปก่อน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำหนังสือถึงกสทช.เพื่อขอให้เสนอพิจารณาและเสนอความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา จากกรณีที่บริษัท ทรูมูฟฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือเอดับบลิวเอ็น ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)หรือเอไอเอส ผู้ชนะประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ได้ขอขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลในงวดที่ 4 ออกไปอีก 6 งวด เป็นงวดละประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเดียวกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในอัตรา1.5%
ทั้งนี้สาเหตุที่ขอขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลในงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายที่ต้องชำระทั้งหมดในปี2563 โดย ทรูมูฟ ต้องชำระ ล้านบาท 60,218 และเอไอเอส 59,654 ล้านบาทนั้น เนื่องจากเป็นวงเงินที่สูง และเป็นภาระที่หนักมาก หากสามารถขยายระยะเวลาการชำระออกไป จะทำให้ค่ายมือถือทั้งสองราย มีเงินลงทุนขยายโครงข่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้ดีย่ิงขึ้น
“สำนักงานกสทช.จะวิเคราะห์ และเสนอความเห็นให้บอร์ดกสทช.พิจารณาในวันที่ 27 ธ.ค.นี และจากนั้นจะส่งหนังสือถึงคสช.เพื่อนำความเห็นของกสทช.ไปประกอบการพิจารณาต่อไป การช่วยเหลือด้วยการขยายระยะเวลาการชำระเงินประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์นั้น เป็นไปตามคำขอร้องของเอกชน ส่วนแนวทางการช่วยเหลือนั้น ขึ้นอยู่กับคสช.เนื่องจากเงินประมูลทั้งหมด เป็นเงินที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น ขณะนี้ได้ส่งรายละเอียดแนวทางการช่วยเหลือไปยังรัฐบาล และคสช.แล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆนี้ ”
สำหรับการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์นั้น ถือเป็นการประมูลที่สร้างประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการประมูลที่ยาวนานถึง 84 ชั่วโมง หรือ 4 คืน 5 วัน โดยทรูมูฟ ชนะประมูลในราคา 76,298 ล้านบาท งวดที่ 1 ชำระแล้ว 8,040 ล้านบาท งวดที่ 2 จะครบกำหนดชำระ 4,020 ล้านบาท ในวันที่ 16 มี.ค.2561 งวดที่ 3 จะครบกำหนดชำระ 4,020 ล้านบาทในวันที่ 16 มี.ค.2562 และงวดที่ 4 งวดสุดท้ายชำระ 60,218ล้านบาท ในวันที่ 16 มี.ค. 2563
ส่วนเอไอเอสนั้น ชนะประมูลในรอบ2 หลังจากที่บริษัท แจส โมบาย จำกัด ไม่ยอมมาชำระเงินค่าประมูลที่ชนะไปรอบแรก โดยเอไอเอส ชนะประมูลรอบ2 ในราคา 75,654 ล้านบาท โดยงวดแรกชำระไปแล้ววงเงิน 8,040 ล้านบาท งวดที่ 2 จะครบกำหนดชำระ4,020 ล้านบาท ในวันที่ 1 ก.ค.2561 งวดที่ 3 จะครบกำหนดชำระ 4,020 ล้านบาทในวันที่ 1 ก.ค. 2562 และงวดที่4 จะครบกำหนดชำระ 59,574 ล้านบาท ในวันที่1 ก.ค.2563
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่กสทช.ได้เสนอให้คสช.พิจารณา เพื่ออกคำสั่งม.44 นั้น ประกอบด้วย1.การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล 50% จากปัจจุบันผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล มีภาระค่าเช่าโครงข่ายปีละ 1900-2,000 ล้านบาท 2.การพักชำระค่าประมูลงวดที่เหลือเป็นเวลา 3 ปี โดยในระหว่างที่พักชำระค่าประมูลนั้น จะคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำมาก เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการ ส่วนแนวทางการชดเชยเยียวยากรณีที่คสช.ใช้เวลาในการออกอากาศเพื่อประชาสัมพันธ์การทำงานของรัฐบาล และคสช.ตลอด3ปีนั้น ต้องรอการพิจารณาในครั้งต่อไป
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ 900 เมกะเฮิรตซ์ วานนี้ (18 ธ.ค.) โดยคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต ราคาเร่ิมต้นการประมูล 37,457 ล้านบาท ส่วนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ใบ ราคาเร่ิมต้น 37,988 ล้านบาทนั้น ได้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับราคาเร่ิมต้นดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า เป็นราคาที่เป็นธรรม เพราะราคาใกล้เคียงกับการประมูลครั้งก่อน ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากราคาเกินความเป็นจริงในตลาด โดยเรื่องดังกล่าวกสทช.จะยังคงเป็นรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงสิ้นเดือนม.ค.2561 หลังจากนั้นสำนักงานกสทช.จะนำมารวบรวมความคิดเห็นและเสนอบอร์ดกสทช.พิจารณาอนุมัติต่อไป