วงการสื่อสารเตือน กสทช.ระวัง “ทุบหมอข้าวตนเอง” หลังตั้งแท่นไฟเขียวทีโอทีเซ็งลี้คลื่น 2300 MHzกว่า 60 MHz ให้ดีแทค ไตรเน็ตเช่าใช้ต่อปลดล็อคขาดคลื่นในมือ นอนตีพุงยาวไม่ต้องดิ้นประมูลคลื่นใหม่ไปถึงปี 68
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมพิจารณาข้อเสนอของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ที่ขอปรับปรุงการใช้งานคลื่น 2300 MHz รองรับบริการ”บรอดแบนด์ ไวร์เลส” แต่กลับพ่วงการ “เซ็งลี้”คลื่นความถี่ออกไปให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต ในเครือดีแทค นำไปให้บริการต่อในลักษณะ MVNO โดนอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองงานกิจการโทรคมนาคม ได้เรียกทีโอทีชี้แจงกรณีดังกล่าวในสัปดาห์หน้า
โดยหากข้อตกลงเป็นคู่ค้าพันธมิตรทีโอที-ดีแทคดังกล่าวได้รับการเห็นชอบ จะส่งผลต่อ”โร้ดแม็พ”การประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800 MHz ที่ กสทช. วางเอาไว้ว่าจะดึงเม็ดเงินจากการประมูลเข้ารัฐได้นับแสนล้านบาทในทันที เพราะเมื่อค่ายดีแทคที่เป็นค่ายมือถือที่มีความต้องการคลื่นใหม่มากที่สุด จากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2561 หากสามารถบรรลุข้อตกลงกับทีโอทีจนสามารถช่วงชิงคลื่นความถี่ 2300 MHzจำนวน 60 MHz มาอยู่ในมือได้ก่อนจะปลดล็อคปัญหาขาดแคลนคลื่นความถี่ในมือไปใยทันที สามารถนอนตีพุงไปได้อีกถึง 8 ปีถึงปี 2568 โดยไม่ต้องขวนขวายไปดิ้นประมูลคลื่นใหม่ใดๆ อีก
แหล่งข่าวกล่าวว่าแม้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค. ) จะเคยมีมติเห็นชอบให้ทีโอที นำคลื่นความถี่ดังกล่าว จำนวน 60 MHz ไปปรับปรุงพัฒนาระบบ Broadband Wireless Access ไปจนถึงวันที่ 3 ส.ค. 2568 (มติกทค.วันที่ 29 ตุลา2558) แต่ก็ตั้งเงื่อนไขให้ทีโอทีต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้อบังคับและระเบียบกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะทำงาน ติดตามตรวจสอบการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
“เงื่อนไขที่กทค.อนุมัตินั่นระยุชัด ทีโอทีจะต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง ไม่สามารถจะมอบสิทธิส่วนใดส่วนหนึ่งไปให้เอกชนรายอื่นทำแทนได้ แต่ที่ผ่านมากลับปรากฎว่าบอร์ดทีโอที กลับอนุมัติให้ทีโอที ทำสัญญากับบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัดในเครือ DTAC ในการเป็นคู่ค้าให้บริการ ไร้สายบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) โดยจ่ายผลตอบแทนให้ TOT จำนวน 4.51 พันล้านบาทต่อปี รวมตลอดสัญญา8 ปีกว่า 3.6 หมื่นล้านเพื่อแลกกับการให้ดีแทคใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวทั้งหมด”
แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่ทีโอทีดอดไปเซ็งลี้คลื่น 2300MHz ต่อให้กับดีแทค โดยไม่มีการชี้แจง รายละเอียด ใดๆ ให้ กสทช. ทำให้คณะทำงานกสทช. ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการนำคลื่นดังกล่าวไปใช้ ได้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบ การใช้คลื่นของทีโอทีเพื่อรายงานต่อที่ประชุมบอร์ด กทค. เมื่อ 15 มีนาคม 2560 ระบุพบพฤติกรรมการนำคลื่นความถี่ไปใช้ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายและมติ กทค.และกสทช.รวมทั้งยังระบุว่าเป็นการดำเนินการที่ขัดมาตรา46 พรบ.ประกอบกิจการ โทรคมนาคม อีกด้วย ก่อนที่ประชุมบอร์ด กทค.จะมีคำสั่ง ให้สำนักงาน กสทช.ทำหนังสือแจ้งไปยังทีโอที กำชับให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัดหากทีโอทีจะดำเนินการปรับปรุงคลื่นเพื่อให้บริการไวร์เลส บรอดแบนด์ จะต้องเป็นการลงทุนและดำเนินการของทีโอทีเอง ไม่สามารถจะมอบสิทธิ์หรือนำคลื่น ไปให้เอกชนรายอื่นเช่าใช้ได้ พร้อมทั้งส่ังให้คณะทำงาน ประเมินความจำเป็น และเหมาะสมของคลื่นความถี่ ที่ทีโอทีใช้อยู่ หากเห็นว่า มีการนำไปใช้อย่างไม่เกิดประสิทธิภาพ มีคลื่นเหลือในมือก็ให้ กสทช.เรียกคืนเพื่อนำ ไปเปิดประมูลจัดสรรต่อไป
แหล่งข่าว กลาวว่า หาก กสทช.ไฟเขียวข้อตกลงที่ว่านี้ให้กับทีโอทีและดีแทค ไม่เพียงจะก่อให้เกิดคำถามถึงประเด็นความขัดแย้งระเบียบกฎเกณฑ์ทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ ยังเป็นการ “ทุบหม้อข้าว”ตัวเองของ กสทช.อีกด้วย เพราะหากดีแทคบรรลุข้อตกลงการเป็นพันธมิตรธุรกิจกับทีโอทีในครั้งนี้ไปได้ จะปลดล็อคปัญหาเรื่องคลื่นความถี่ในมือที่ดีแทคกำลังเผชิญอยู่ทันที “ถึงเวลานั่นโร้ดแม็พมนการประมูลคลื่น900และ1800 MHzที่ กสทช.กำลังตีปี๊บจะสามารถดึงเม็ดเงินเจ้ารัฐมากกว่า 150,000ล้านบาทนั่น คงเป็นได้แค่ฝันกลางวันเท่านั้น!!!”