ฝันสลายเสียแล้วเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย หลังคลังจุดพลุเล็งโยกเงินค่ารถไฟ -บขส.500 บาทให้คนต่างจังหวัดเพิ่มวงเงินรูดปื้ดได้มากขึ้น แต่เจอนายกฯสวนกลับจะหาเงินจากไหนมาถมให้ ต้องแถลงเบรกกันให้วุ่น ทำเอาความฝันของผู้มีรายได้น้อยหายวับไปกับสายลม ขณะเก้าอี้ปลัดคลังร้อนรุ่มหลังทำงานข้ามหน้ารัฐ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจากกรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากปัจจุบันอยู่ที่เดือนละ 200- 300 บาท เป็นเดือนละ 700- 800 บาท โดยโยกเงินจากค่าเดินทางที่ไม่ได้ใช้บริการรถไฟหรือรถบขส.มาเพิ่มให้นั้น รัฐบาลขอชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าว ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรัยว่าในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ได้ตำหนินายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังผ่านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว. คลัง เนื่องจากปลัดกระทรวงการคลังออกมาให้ข่าวดังกล่าวกับสื่อมวลชนทั้งที่ยังไม่มี ข้อมูลที่ชัดเจนมากพอโดยระบุว่า การจะให้ข่าวอะไรต้องมีข้อมูลชัดเจนพอสมควร อย่างไรก็ตามในที่ประชุมครม. ครั้งนี้ไม่ได้หารือเกี่ยวกับรายละเอียดของบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมอีก “นายกฯติงสั้นๆแค่นั้นว่าที่ปลัดกระทรวงการคลังพูดไปนั้นได้หารือกับ รมว. คลังแล้วหรือยัง ไม่ได้พูดรายละเอียดอะไรมากไปกว่านี้”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลมีแผนจะเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเป็นเดือนละ 700-800 บาทโดยโยกเงินค่ารถไฟ รถบขส.ที่ไม่ได้ใช้มาเพิ่มให้นั้น ได้ทำให้นายกรัฐมนตรี รองนายกฯสมคิดและ รมว.คลัง รู้สึกโกรธกับข่าวที่ออกมาอย่างมาก เนื่องจากเกรงว่าจะถูกบิดเบือนเป็นประเด็นทางการเมืองอีกว่าเป็นการเอื้อให้เอกชนรายใหญ่ขายสินค้าได้เพิ่ม อีกทั้งในส่วนระดับนโยบายยังไม่รู้จะไปเอาเงินมาจากไหน ทั้งนี้ นายสมคิดยังได้โทรศัพท์ไปตำหนิการให้สัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงการคลังต่อกรณีดังกล่าวด้วย ทำให้มีการวิพากษ์กันในวงกว้างว่ากรณีที่เกิดข้ึนนี้ อาจทำให้ตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังของนายสมชัย สัจจพงษ์ ส่ันคลอนได้ เนื่องจากรัฐบาลมองว่า มีการทำงานที่ข้ามหน้าข้ามตารัฐมากเกินไป
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การศึกษาของกระทรวงการคลังในเรื่องการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อนำไปใช้จ่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐ จาก 200 บาท เป็น 700 บาท และจาก 300 บาท เป็น 800 บาทนั้นขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง และไม่ได้เป็นนโยบายของรัฐบาลแต่อย่างใด ส่วนการให้สัมภาษณ์ของตนเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงการคลังไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มวงเงินในบัตรเพื่อใช้ในการซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า กระทรวงการคลังจึงนำเรื่องดังกล่าวมาศึกษาในทันที
“ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายเรื่องการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ในฐานะกระทรวงการคลังเจ้าของเรื่องก็ต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยโยกเงินจากรถไฟและ บขส.มาเพิ่มเติมให้แก่ร้านธงฟ้าฯ อย่างไรก็ตาม ตนจะนำเรื่องดังกล่าวรายงานต่อนายอภิศักดิ์ ตันติวร วงศ์ รมว.คลัง เพื่อรับทราบแนวทางในการดำเนินงานต่อไป”
ทั้งนี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กำหนดให้ผู้ถือบัตรที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้รับเงินวงเงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านธงฟ้า วงเงิน 300 บาทต่อเดือน และกรณีที่มีรายได้ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ได้รับวงเงินในบัตร 200 บาทต่อเดือน โดยปลัดกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะเพิ่มวงเงินจากเดิม 200 บาท เป็น 700 บาท และจากเดิม 300 บาท เป็น 800 บาท โดยจะสมทบเงินให้อีก 500 บาท จากวงเงินที่ใช้ในการเดินทางคือ รถไฟ จำนวน 500 บาท หรือ บขส. จำนวน 500 บาท มาเพิ่มเติมวงเงินในบัตรที่ใช้กับร้านธงฟ้า
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค.60 เป็นวันแรกที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยใน 7 จังหวัด ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เป็นวันแรก จึงได้ลงพื้นที่ไปยังร้านธงฟ้าประชารัฐ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ในเขตบางบางบอน ซึ่งเป็นเขตที่มีผู้มีรายได้น้อย ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 10,659 ราย โดยได้ติดตามความเรียบร้อยในการเปิดจำหน่ายสินค้าของร้านธงฟ้าประชารัฐ 2 แห่งคือ ร้านบางบอนซุปเปอร์เซ็นเตอร์ และร้านเซฟ-ดี มินิมาร์ท ทั้งนี้ พบว่า การซื้อสินค้าของประชาชนเป็นไปอย่างคึกคัก โดยส่วนใหญ่จะใช้วงเงินในบัตรซื้อสินค้าประเภท ข้าวสาร น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส และของใช้ที่จำเป็นต่างๆ นอกจากนี้ บรรยากาศการจำหน่ายสินค้าของร้านค้าโดยภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานและเตรียมความพร้อมร่วมกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่างใกล้ชิด ในการสำรองสินค้าและจัดลำดับผู้ที่มารอใช้สิทธิ เพื่อป้องกันความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการใช้บริการของประชาชนได้อย่างราบรื่น
สำหรับจำนวนร้านธงฟ้าประชารัฐในกรุงเทพฯนั้น ได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเชิญชวนร้านค้าเข้าร่วมโครงการให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการใช้สิทธิของผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ 552,278 ราย ซึ่งล่าสุด มีร้านธงฟ้าประชารัฐ ในกรุงเทพฯ สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 902 ร้านค้า ครอบคลุม 50 เขตในกรุงเทพฯ ซึ่งธนาคารกรุงไทย ได้ติดตั้งเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) ไปแล้ว 300 แห่ง