ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาหลายปีแล้วกับทริปร่วมงานแถลงข่าว“ทิศทางการดำเนินธุรกิจของเคทีซี”พร้อมกิจกรรมขอบคุณสื่อมวลชนในแต่ละปี สำหรับปีนี้ทีมผู้บริหารระดับสูงเคทีซีและกองทัพสื่อมวลชนนับร้อยชีวิตบินลัดฟ้าไปร่วมกิจกรรมดังกล่าวยังประเทศกรีช ดินแดนอารยกรรมกรีกโบราณภายใต้คอนเซ็ปต์ “Greeed @Greece” ระหว่างวันที่ 27 ก.ย.-2 ต.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจเคทีซีปี 2561 นั้น เคทีซี ตั้งเข็มทิศที่ความจำเป็นและความต้องการของสมาชิกและผู้บริโภคเป็นหลัก เดินหน้าโมเดลธุรกิจจับมือพันธมิตรรอบทิศด้านการตลาด ไอที สตาร์ทอัพ และฟินเทค นำเสนอบริการที่มีคุณค่าและตรงกับความต้องการของสมาชิกอย่างแท้จริง พร้อมผลักดันแผนงานด้านดิจิทัล ครอบคลุมนวัตกรรมเทคโนโลยีบริการล่าสุดสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ มั่นใจสมาชิกบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลกว่า 3 ล้านบัญชี และผู้บริโภคทั่วไทยจะได้รับประสบการณ์ที่ดี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความผูกพันกับแบรนด์เคทีซีอย่างยั่งยืน
ปรับกลยุทธ์ “ด้านไอที-ดิจิทัล” พร้อมหนุนไทยสู่สังคมไร้เงินสด
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไปเร็ว สถาบันการเงินของไทยกำลังเปลี่ยนผ่านหรือทรานส์ฟอร์มไปสู่โลกแห่งดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ตามแผนการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็คทรอนิกส์แห่งชาติ (National ePayment) เคทีซีเองก็ได้มีการปรับแผนกลยุทธ์ด้านไอทีและดิจิทัล เพื่อสนับสนุนประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อย่างเต็มรูปแบบ ด้วย 3 แนวทางหลัก คือ 1. ระบบต้องมีความเสถียร 2. โมเดลธุรกิจที่จับต้องได้ และ 3. กระบวนการทำงานถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2561 บริษัทฯ จะเดินหน้าขยายความร่วมมือกับทุกพันธมิตรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญโดดเด่นในธุรกิจนั้นๆ (Collaborative Business Model) แบบไม่มีขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรทางการตลาด กลุ่มสตาร์ทอัพ ฟินเทค หรือร้านค้าที่มีจุดแข็งโดดเด่นและพร้อมที่จะทำงานร่วมกับเคทีซี เพื่อนำเสนอบริการที่มีคุณค่าให้กับสมาชิก และรองรับธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ที่มากขึ้น นอกจากนี้ เรายังมีแผนปรับกลยุทธ์การตลาดในธุรกิจหลักคือ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและร้านค้า เพื่อสร้างโอกาสจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายใหม่และรักษาฐานสมาชิกเดิมให้อยู่กับแบรนด์เคทีซีอย่างยั่งยืน
“เราศึกษาและทดสอบระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าได้นวัตกรรมบริการที่ดีที่สุดและเหมาะสมมาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ควบคู่ไปกับการศึกษาพฤติกรรมความต้องการของลูกค้าจากฐานข้อมูล (Big Data) และวิเคราะห์ปัญหา (Pain Points) ที่มาจากลูกค้าจริงๆ เพื่อให้แน่ใจว่านวัตกรรมบริการที่จะนำไปเสนอกับลูกค้าต้องเป็นประโยชน์ มีความเสถียร รวดเร็ว ใช้งานง่ายและปลอดภัยที่สุด ในขณะเดียวกันเมื่อลูกค้ามีการใช้จ่ายบัตรเครดิตผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เราเองก็ต้องแน่ใจว่าเรามีระบบที่ดีที่สุดสำหรับร้านค้าในการรองรับธุรกรรมที่จะเติบโตมากขึ้นด้วยเช่นกัน ที่สำคัญจะต้องนำเสนอประสบการณ์ที่ดี (CX-Customer Experience) และเหนือกว่าความคาดหมายของผู้ถือบัตรเครดิตในการทำธุรกรรม”
เดินหน้าโมเดลธุรกิจจับมือพันธมิตรรอบทิศ
นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2561 ว่า ทีมการตลาดของเคทีซีจะเดินหน้าความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจต่างๆ เพื่อสรรหาสิทธิพิเศษที่เป็นประโยชน์ทุกหมวดการใช้จ่ายที่จำเป็นและตอบสนองทุกเทรนด์ของไลฟ์สไตล์ที่จะเกิดขึ้น อย่างเช่น หมวดกีฬา ท่องเที่ยว ของเล่น ของสะสม สัตว์เลี้ยงและคอมมูนิตี้ต่างๆ เพื่อเป้าหมายของการเป็นบัตรเครดิตอันดับต้นๆ ที่ทุกคนนึกถึง ผนวกเข้ากับกลยุทธ์สร้างสัมพันธ์ระยะยาวกับฐานสมาชิกเดิมด้วยโปรแกรมคะแนนสะสม KTC Forever Rewards โดยจะขยายทั้งรูปแบบการใช้คะแนนที่หลากหลาย และเพิ่มช่องทางในการแลกสินค้าและบริการให้มากขึ้น รวมทั้งจะมุ่งสร้างการรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ และช่องทางออนไลน์ให้สมาชิกได้ทราบรายการส่งเสริมการตลาด และบริการแบ่งชำระ 0% KTC Flexi เพื่อสร้างโอกาสในการใช้จ่ายผ่านบัตร รวมถึงพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้สมาชิกเคทีซีทำธุรกรรมรายการต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ผ่าน “Click KTC” บนเว็บไซต์ โฉมใหม่ หรือผ่านโมบาย แอพพลิเคชั่น “TapKTC” โดยเคทีซียังได้ปรับโฉมใหม่ของโมบาย แอพพลิเคชั่น “TapKTC” เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ลูกค้าใช้ง่าย สะดวกและสบายตากับฟีเจอร์จำเป็นที่ลูกค้าเลือกได้เอง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าในหลายด้าน นอกเหนือจากความคุ้มค่าและความหลากหลายของสิทธิพิเศษที่เราจะคัดสรรมาให้
เสนอบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการสมาชิกอย่างแท้จริง
นางสาวสุดาพร จันทร์วัฒนากุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ธุรกิจสินเชื่อบุคคล “เคทีซี” กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจสินเชื่อบุคคลในปี 2561 ว่า คาดตลาดสินเชื่อบุคคลในปีหน้าจะมีการแข่งขันสูงและมีความท้าทายผู้ประกอบการมากขึ้นกว่าเดิม จากกฎเกณฑ์ที่แบงค์ชาติประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดยในส่วนของเคทีซีจะพิจารณาขยายฐานสมาชิกใหม่ไปยังกลุ่มเป้าหมายศักยภาพที่มีรายได้ 30,000 บาทมากขึ้น เพราะไม่มีการจำกัดวงเงินและจำนวนสถาบันการเงิน ในขณะเดียวกันจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของบริษัทฯ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาและมีงานประจำทำเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้เคทีซี พราว “KTC PROUD” เป็นบัตรใบแรกที่เคียงคู่กับผู้ใช้และเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในยามที่จำเป็น ในขณะเดียวกันบริษัทฯ จะพัฒนาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์และบริการสินเชื่อพร้อมใช้ “เคทีซี พราว” ให้ตอบโจทย์สมาชิกมากขึ้น ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในยุคดิจิทัล เช่น Cash Online การเบิกถอนเงินสดผ่านโทรศัพท์มือถือและเว็บไซต์เคทีซี สำหรับผู้มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกรุงไทย หรือการขอรหัสผ่านด้วยตนเองที่ Click KTC บนเว็บไซต์ หรือโมบาย แอพฯ “TapKTC” หรือทำรายการอัตโนมัติทางโทรศัพท์ด้วยระบบ IVR รวมทั้งบริหารจัดการพอร์ตลูกหนี้ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสูดและผูกพันกับเคทีซีอย่างยั่งยืน ด้วยโปรแกรมการตลาดรูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างและตรงกับความต้องการของสมาชิก เช่น การแบ่งเบาภาระหนี้และค่าครองชีพ คอร์สการให้ความรู้เพื่อสร้างรายได้เสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ ปัจจุบันเคทีซีมีสมาชิกสินเชื่อบุคคล 850,383 บัญชี (ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2560)”
ขยายฐานลูกค้าคุณภาพให้ตรงกลุ่มมากกว่าการเน้นปริมาณ
นายปิยศักดิ์ เตชะเสน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส – ช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้า “เคทีซี” กล่าวถึงกลยุทธ์การบริหารช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้าว่าปี 2561 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายในการขยายฐานลูกค้าใหม่เพื่อให้ตอบรับกับกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมา เคทีซีมีการปรับกลยุทธ์แนวคิดและวิธีการทำงานใหม่ทั้งกระบวนการให้เหมาะสม โดยในส่วนของธุรกิจช่องทางจัดจำหน่ายจะมุ่งไปที่ 4 แนวทางหลักคือ 1) เพิ่มประสิทธิภาพในการขยายฐานลูกค้าคุณภาพให้ตรงกลุ่มมากกว่าการเน้นปริมาณ เน้นกลุ่มคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาท มากขึ้น เนื่องจากมีการใช้จ่ายต่อเดือนสูงและมีอัตราหนี้เสียที่ต่ำกว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท 2) เน้นช่องทางออนไลน์ในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งเว็บไซต์ www.ktc.co.th โมบาย แอพฯ “TapKTC” และ QR Code รวมถึงจะร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจที่เป็นสื่อกลางในการรับสมัครบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลผ่านออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น 3) ใช้ช่องทางสาขาของธนาคารกรุงไทยและตัวแทนขาย (Outsource Sales) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นช่องทางหลักในการขยายฐานสมาชิก 4) ใช้โปรแกรมและแคมเปญการตลาดที่น่าสนใจและหลากหลายของเคทีซีกระตุ้นความสนใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้มาสมัครเป็นลูกค้า”
“สำหรับการบริหารธุรกิจร้านค้ารับบัตร ในปี 2561 บริษัทฯ มีเป้าหมายเติบโตของธุรกิจร้านค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพิ่มทางเลือกใหม่ให้แก่ร้านค้าในการรับชำระค่าสินค้าและบริการที่หลากหลาย นำเสนอบริการ KTC Payment Solutions ที่เหมาะสมกับประเภทธุรกิจของคู่ค้า และขยายตลาดเจาะร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยใช้ QR Code Payment ในการขับเคลื่อน ซึ่งมีความคล่องตัวและช่วยให้ร้านค้าบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสด พร้อมทั้งนำเสนอ Alipay O2O (Online to Offline) Payment ให้กับร้านค้าในหลายธุรกิจ เพื่อเร่งขยายจุดรับชำระค่าสินค้าและบริการตามแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ทั้งดิวตี้ฟรี ช้อป ร้านอาหาร จิวเวลรี่ เครื่องสำอาง”
ยันปี 2560 กำไรเติบโต 10%
นายชุติเดช ชยุติ ซีเอฟโอ (CFO) “เคทีซี” กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและกลยุทธ์ในการบริหารการเงินว่า เคทีซียังคงความสามารถในการสร้างรายได้และการทำกำไร รวมถึงยังสามารถควบคุมให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม แม้จะต้องพบกับความท้าทายใหม่จากหลายปัจจัยก็ตาม บริษัทฯ ยังคงยืนยันว่ากำไรปี 2560 จะเติบโต 10% ตามเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในปี 2561 มีแนวโน้มเชิงบวก จากสภาพเศรษฐกิจต่างประเทศที่ขยับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกในประเทศดีตามไปด้วย รวมไปถึงจีดีพี (GDP) ที่มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า สำหรับกลยุทธ์การบริหารด้านการเงินของเคทีซีในปี 2561 บริษัทฯ จะยังคงมุ่งเน้นให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ โดยจะบริหารต้นทุนเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการหาต้นทุนที่ต่ำและเพิ่มสัดส่วนของเงินกู้ระยะยาวมากขี้น รวมทั้งมีแผนจะออกหุ้นกู้ในระยะยาวกว่าเดิม เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีหน้า
“ส่วนการตั้งสำรองของบริษัทฯ ตามแนวทางของมาตรฐานบัญชี IFRS 9 ทางบริษัทที่ปรึกษาของบริษัทฯ ได้สอบทานโมเดลที่ใช้ในการคำนวณสำรองว่าสอดคล้องกับหลักการ และเป็นไปตามแนวทางของมาตรฐาน IFRS 9 แล้ว ดังนั้นในสิ้นปี 2560 นี้ บริษัทฯ จะปรับตัวเลขการตั้งสำรองในส่วนต่างๆ ให้เพียงพอตาม IFRS9 และพร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรฐาน โดยคาดว่าไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญในต้นปี 2562 ที่บริษัทจะนำมาตรฐานฉบับดังกล่าวมาถือปฏิบัติ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังพร้อมรับชำระเงินและจ่ายเงิน (Bill Payment) ผ่านระบบพร้อมเพย์ในสิ้นปี 2560 และมีแผนเข้าร่วมในโครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิคส์ (E-tax System) เป็นกลุ่มแรก ซึ่งกรมสรรพากรจะเริ่มนำมาใช้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561″
นายระเฑียร กล่าวปิดท้าย ว่าเคทีซีมุ่งขยายธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยโมเดลธุรกิจที่แตกต่างและเป็นรูปธรรม โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้ธุรกิจขับเคลื่อนอย่างมีเสถียรภาพ เราคิดว่าวันนี้เคทีซีพร้อมเกือบ 100% สำหรับการรองรับแพลทฟอร์มงานดิจิทัลอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าลูกค้าจะได้รับบริการด้านดิจิทัลที่ดีที่สุดของวงการบัตรเครดิตในขณะนี้ และพร้อมจะให้สมาชิกเคทีซีหรือแม้กระทั่งผู้บริโภคที่อาจจะเป็นลูกค้าเราในอนาคต เป็นผู้พิสูจน์และบอกเรา เพื่อให้เราได้มีโอกาสปรับปรุงและพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น เพราะการจะทำให้ลูกค้าหรือสมาชิกผูกพันกับแบรนด์เคทีซีได้อย่างยั่งยืน ควรจะมาจากความพึงพอใจของลูกค้าที่ได้รับจากประสบการณ์ใช้งานจริงๆ และเคทีซีจะไม่หยุดแค่นี้ เรายังคงทำงานหนักต่อเนื่องเพื่อสรรหาสิ่งที่ดีที่สุด มานำเสนอให้ลูกค้าได้รับประโยชน์ครบทุกความต้องการ เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างลูกค้ากับแบรนด์เคทีซีอย่างยั่งยืน