รถไฟยกเครื่องตลาดนัดจตุจักรรองรับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” เต็มสูบ ผุดแอพลิเคชั่น “จตุจักร ไกด์” ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกช็อปปิ้งออนไลน์ พร้อมระบบนำทางถึงร้านเป้าหมาย ดึงแบงก์ร่วมพัฒนาระบบ QR Code สู่สังคมไร้เงินสดนำร่อง 300 ร้านต้องชิม-ช็อปก่อนรุกสู่ตลาดนัดออนไลน์เต็มตัว
นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และประธานผู้อำนวยการบริหารพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร เปิดเผยว่าหลังจากการรถไฟฯ รับมอบตลาดนัดจตุจักรมาจากกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2555 เพื่อทำการบริหารเองนั้น ล่าสุดการรถไฟได้ร่วมกับสถาบันการเงินอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เคแบงก์ และอื่นๆ เข้ามาร่วมปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบตลาดนัดแห่งนี้ ตั้งแต่ทางเข้า-ออก ทางเดิน จุดน่ังพักและร้านค้าในโซนต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 30 โซน 10,000 กว่าร้านค้า
ปลุกชีพหอนาฬิกาสู่จุด “Check In”
โดยก่อนหน้าได้ปรับปรุงหอนาฬิกาที่ถูกปิดตายไปแล้วให้กลายเป็นจุดนัดพบและจุด “เช็คอิน” ที่นักท่องเที่ยวต้องแวะเข้ามาเก็บภาพไว้ พร้อมเตรียมปรับปรุงพื้นที่โดยรอบหอนาฬิกาเพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของการช็อปปิ้งและพักผ่อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการวางเอาท์ไลน์ออกแบบก่อสร้าง
ผุดแอพ Chatuchak Guide รับไทยแลนด์ 4.0
นอกจากนี้ยังได้พลิกโฉมหน้าของตลาดนัดจตุจักรเพื่อรองรับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”และรองรับสังคมไร้เงินสดที่สามารถจับจ่ายค่าโดยสินค้าด้วยระบบอีเพย์เมนต์ โดยร่วมกับไทยพาณิชย์ผุดแอพพลิเคชั่น “Charuchak Guide” ดึงร้านค้าที่มีกว่า 10,000 ร้านใน 30 โครงการเข้ามาอยู่บนแอพนี้ พร้อมจัดหมวดหมู่สินค้าให้นักท่องเที่ยวและช็อปปิ้งจากทั่วโลกเข้ามาโหลดดูได้อย่างละเอียด รวมทั้งยังพัฒนาแอพดังกล่าวให้เป็นระบบนำทางที่สามารถนำทางนักท่องเที่ยวไปยังร่านค้าเป้าหมายได้โดยไม่มีหลง
ทั้งนี้ จุดเด่นของแอพ Chatuchak Guide ก็คือนอกจากนักท่องเที่ยว บรรดาขาช็อปปิ้งขะโหลดดูรายละเอียดของร้านค้าต่างๆภายในตลาดนัดสวนจตุจักรแล้ว ยังสามารถนำนักท่องเที่ยวเดินทางจากจุดใดๆไปยังร้านค้าภายในตลาดนัดแห่งนี้ได้ชนิดไม่มีหลงทาง โดยแอพฯนี้พัฒนาขึ้นโดยดิจิทัล เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SCB ที่ร่วมกับผู้พัฒนาระบบจากฟินแลนด์ชื่อ “IndoorAtlas” ทำให้การค้นหาร้านค้าในตลาดนัดสวนจตุจักรผ่านแอพฯง่ายดายแค่ปลายนิ้ว โดยระยะแรกได้นำร่องดึง 300 ร้านค้าที่ถือเป็นแม่เหล็กของตลาดที่เรียกได้ว่าเป็น 300 ร้านต้องไปชิม ไปชมและไปดูแบบห้ามพลาด ก่อนจะขยายไปยังร้านอื่น ๆ
“ถือเป็นแห่งที่ 3 ของโลกที่นำเอาระบบนำทางแบบแถบแม่เหล็กนี้มาใช้ นอกเหนือจากที่ย่านช็อปปิ้งชินจูกูของญี่ปุ่น และที่รพ.ในฟอลิด้า โดยข้อมูลลิงค์ทั้งหมดจะพาเดินไปยังร้านค้าต่าง ๆ ได้โดยไม่มีการหลุด และในอนาคตยังจะรองรับการช็อปปิ้งออนไลน์โดยตรงอีกด้วย”
รองรับสังคมไร้เงินสด QR Code
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรองรับสังคมไร้เงินสดที่รัฐและแบงก์ชาติกำลังผลักดันอยู่ ตลาดนัดจตุจักร การรถไฟยังได้ผุดแอพ Merchant POS นำเอาระบบคิวอาร์โค้ด(QR Code) เข้ามาใช้กับร้านค้าต่าง ๆ ภายในตลาดนัดแห่งนี้ โดยร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทยและล่าสุดธนาคารเกียรตินาคินเวางระบบการชำระเงิน “คิวอาร์โค้ด” ให้กับร้านค้าและทำให้ตลาดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นตลาดแห่งแรกในภูมิภาคนี้ ที่ไม่ต้องใช้เงินสดจ่ายค่าสินค้า นักท่องเที่ยวหรือนักช็อปปิ้งที่เข้ามาสามารถจะเลือกซื้อสินค้าแล้วลำระด้วยระบบคิวอาร์โค้ดได้เลย
“ระบบนี้จะอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มักไม่ค่อยพกเงินสด เข้ามาอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวแล้วยังสะดวกต่อร้านค้าไม่ต้องมาคอยทอนเงินเพราะทุกอย่างสแกนเข้าบัญชีได้โดยตรง และยังสามารถเช็คและบริหารสต๊อกสินค้าได้อีกด้วย”
รับขาช็อปนับแสนก่อนทะยานสู่ On Line
ส่วนแผนการปรับปรุงในอนาคต นายศิริพงศ์ กล่าวว่าจะเพิ่มอาคารจอดรถที่เป็น “สมาร์ทพาร์คกิ้ง” จากปัจจุบันที่รอบตลาดสามารถจอดรถได้ราว 300 คันและมีลานจอดรถอีก 2,000 คัน ขณะนี้ตลาดจตุจักรนั้นมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยวันละ 250,000-300,000 คน ส่วนใหญ่ 70%เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติหลัก ๆ คือจีน ญี่ปุ่นและยุโรป
“ไม่เพียงแต่วันหยุดเท่านั้น ในขณะนี้กล่าวได้ว่าตลาดนัดจตุจักรนั้นเปิดเกือบทุกวันยกเว้นวันจันทร์ โดยวันอังคารนั้นผู้ค้าต้นไม้จะเริ่มเข้ามาจัดร้านตั้งแต่กลางคืนและเปิดตลาดต้นไม้ช่วงวันพุธ-พฤหัส ส่วนวันศุกร์นั้นผู้ค้าส่วนใหญ่จะเข้ามาจัดร้านเพื่อเปิดเสาร์-อาทิตย์ และเปิดร้านกันตั้งแต่วันศุกร์ ทำให้กิจกรรมในตลาดนัดจตุจักรนั้นมีเกือบทุกวันแล้วในปัจจุบัน และกลายเป็นตลาดนัดกลางคืนไปในตัว”