การรถไฟฯ กับศิริราชปิยมหาราชการุณย์

0
824

“ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” (SiPH) ถือเป็นต้นแบบโรงพยาบาลรัฐ ที่การบริหารและการให้บริการแบบโรงพยาบาลเอกชน ทั้งคุณภาพศิริราช และมาตรฐานสากล ถึงวันนี้เปิดดำเนินการมากว่า 5 ปีแล้ว ภายใต้แนวคิด “ผู้รับ -ผู้ให้” เนื่องจากรายได้ส่วนหนึ่งที่เข้าโรงพยาบาลจะส่งกลับคืนสู่ “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” เพื่อนำไปใช้ดำเนินการ “โรงพยาบาลศิริราช” และช่วยเหลือผู้ป่วยที่ด้อยโอกาส ซึ่งในแต่ละปี “รพ.ศิริราช” มีผู้ป่วยนอกไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคนต่อปี และผู้ป่วยใน 80,000 คนต่อปี

แต่…เบื้องหลังกว่าจะมาเป็น “ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” นั้น น้อยคนนักจะรู้ว่านอกจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้า ณ สถานีรถไฟบางกอกน้อย ที่ต่างยอมเสียสละแหล่งทำมาหากินที่ถือเป็น “ทำเลทอง” แล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยและ “คนรถไฟฯ” คือหน่วยงานที่ยอมเสียสละพื้นที่แห่งนี้เพื่อ “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ”โดยแท้!

ย้อนรอยสถานีรถไฟบางกอกน้อย

“สถานีรถไฟบางกอกน้อย” หรือที่เรารู้จักกันว่า สถานีรถไฟธนบุรีนั้น เดิมไม่ได้ตั้งอยู่ ณ จุดนี้แต่อยู่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย  มีบันทึกว่า “ในปี 2443 การรถไฟฯ เริ่มสร้างทางรถไฟจากคลองบางกอกน้อย(ธนบุรี)ตรงไปทิศตะวันตกใกล้แนวคลองมหาสวัสดิ์ กับแม่น้ำท่าจีนตรงตำบลบ้านเขมร ไปถึงฝั่งแม่น้ำแม่กลองตรงตำบลบ้านโป่ง แล้วโอนเส้นทางเลี้ยวไปทางทิศใต้ใกล้ฝั่งน้ำข้ามแม่น้ำแม่กลองที่เมืองราชบุรี แล้วตรงไปตามทางบนดอนจนถึงเมืองเพชรบุรีเป็นที่สุด”

เมื่อทางรถไฟสายนี้สร้างเสร็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีเปิดใช้เส้นทางรถไฟที่สถานีบางกอกน้อย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2466 ดังปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 20 ร.ศ. 122  “ด้วยการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมรถไฟจัดสร้างทางรถไฟหลวงตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยไปเมืองเพชรบุรีนั้น บัดนี้การสร้างทางรถไฟสายนี้สำเร็จตลอดถึงเมืองเพชรบุรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการเปิดรถไฟสายนี้ เพื่อให้มหาชนโดยสารไปได้สะดวกต่อไป….”

ในช่วงปี พ.ศ.2485 ประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความจำเป็น โดยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะคือเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นได้ใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งบัญชาการในภูมิภาคนี้เพื่อโจมตีพม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยอาศัยรถไฟเป็นทางลำเลียงหลักของกองทัพ สถานีธนบุรี (บางกอกน้อย) จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการโจมตีของฝ่ายพันธมิตร และในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2485 ช่วงปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นเริ่มอ่อนกำลังลง สถานีธนบุรี (บางกอกน้อย) ถูกทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องจนเสียหายอย่างย่อยยับ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2485 และเมื่อสงครามโลกยุติลง ตัวอาคารสถานีรถไฟธนบุรีได้รับการบูรณะใหม่จนแล้วเสร็จมีสภาพสมบูรณ์ดังเดิมในปี 2493

จากสถานีบางกอกน้อย…สู่ “ศิริราชปิยมหาราชการุณย์”

ในปี 2542 รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า รพ.ศิริราช ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับสถานีธนบุรี ประสบปัญหาแออัดไม่สามารถขยายพื้นที่หรือต่อเติมอาคารใดๆได้ จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพร้อมหน่วยงานในสังกัด ร่วมกันจัดหางบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ให้ รพ.ศิริราช ในบริเวณพื้นที่สถานีธนบุรี โดยมอบหมายให้การรถไฟฯ เจรจากับพ่อค้าแม่ค้าที่ทำมาหากินอยู่บริเวณโดยรอบสถานี ให้ขยับขยายไปค้าขายที่อื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งการเจรจาเป็นไปด้วยความยากเย็นแสนเข็ญ เพราะพ่อค้าแม่ค้าต่างไม่ยินยอมโยกย้าย มีการต่อต้านอย่างรุนแรง

แต่…ทั้งหลายทั้งปวงเมื่อการรถไฟฯได้หยิบยกการส่งมอบพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรีแห่งนี้ เพื่อให้ รพ.ศิริราช ก่อสร้าง ”สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศ” ในเอเชียอาคเนย์ และเป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2542 ทุกฝ่ายต่างพร้อมใจกันน้อมถวายเพื่อในหลวง โดยพ่อค้าแม่ค้าที่ทำมาหากิน ณ สถานีรถไฟธนบุรี ต่างก็พร้อมใจย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่ที่การรถไฟฯ จัดหาให้ ขณะที่พนักงานการรถไฟฯ ที่ต้องถูกย้ายไปพร้อมครอบครัวแม้จะเดือดร้อนอยู่บ้าง แต่ทุกคนก็พร้อมถวายให้ในหลวง

ในที่สุดกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ก็สามารถส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้ รพ.ศิริราชพัฒนา “ศูนย์การแพทย์ศิริราชปิยมหาราชการุณย์  เพื่อมอบเป็นของขวัญให้ประชาชนที่เจ็บป่วยได้ตามเป้าหมาย พร้อมปรับปรุงที่ทำการสถานีรถไฟธนบุรีแต่เดิม เป็น “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” ซึ่งได้ทำพิธีเปิดไปเมื่อเร็วๆ นี้

ในช่วงที่การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคมส่งมอบพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย)ให้ รพ.ศิริราช นั้น ได้มีการจัดทำข้อตกลงสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลให้เจ้าหน้าที่การรถไฟฯในบางประการ อาทิ จัดช่องทางพิเศษในการรักษาพยาบาลเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ลดค่าภาระส่วนเกินสิทธิยกเว้นยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ในอัตราไม่เกินร้อยละ 25 แก่ผู้ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลของการรถไฟฯ ครอบครัว อดีตพนักงานการรถไฟฯ เป็นต้น

แต่ดูเหมือนระยะหลังข้อตกลงข้างต้นดูจะถูกละเลย และแทบจะไม่มีการกล่าวถึงที่มาที่ไปของสถาบันการแพทย์ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ โดยเฉพาะ “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” แห่งนี้ที่มาจากความเสียสละจากทั้งพ่อค้า แม่ค้าสถานีรถไฟบางกอกน้อยหรือสถานีธนบุรีแต่ก่อนเก่า รวมทั้งพนักงานการรถไฟฯ ทั้งองค์กร ทำเอาคนรถไฟหลายต่อหลายคนน้อยใจกันไปตามๆ กัน

สำหรับคนรถไฟฯนั้น ประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนานของสถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) นับแต่พ่อหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงดำริให้จัดสร้างขึ้น ก่อนที่การรถไฟฯ จะมอบให้ รพ.ศิริราช ได้พัฒนาเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 9 นั้น เป็นสิ่งที่คนรถไฟไม่เคยลืมเลือน ยังคงรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ตลอดกาล

บทความโดย : สุขุมาลย์ ศรีตุลา