นิตยสาร LOGISTICS TIME ฉบับประจำเดือนกันยายน 2560 …เริ่มต้นด้วยข่าวดีๆ กันก่อนหลังจากประชาชนเรียกร้องเหรียญที่ระลึกเนื่องในโอกาสพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะการเปิดจองรอบแรกไม่เพียงพอต่อความต้องการ ล่าสุด กรมธนารักษ์ใจป้ำเตรียมผลิตเหรียญเพิ่มในรอบที่ 2 ครั้งนี้ให้สิทธิจองคนละ 1 สิทธิ เปิดรับจองวันที่ 18 ก.ย. 2560 เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ณ ที่ทำการสาขาธนาคาร และธนารักษ์ ทั่วประเทศ พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุว่า หลังจากที่ประชาชนให้ความสนใจจองเหรียญที่ระลึก จนครบจำนวนที่กำหนดในครั้งแรก โดย กำหนดให้ประชาชนผู้สนใจ มาจองเหรียญที่ระลึกฯรอบสอง ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 2560 เวลา 08.30 เป็นต้นไป
….สำหรับการผลิตเหรียญที่ระลึกฯเพิ่มในครั้งนี้ มีจำนวนตามประเภทเหรียญดังนี้เหรียญทอง ผลิตเพิ่มอีก จำนวน ไม่เกิน 5 หมื่นเหรียญ จากเดิมที่ผลิต จำนวน 99,999 เหรียญ ราคา เหรียญละ 50,000 บาท เหรียญเงิน ผลิตเพิ่มอีก จำนวน ไม่เกิน 4 แสนเหรียญ จากเดิมที่ผลิต 399,999 เหรียญ ราคาเหรียญละ 2,000 บาท เหรียญทองแดงรมดำ ผลิตเพิ่มอีกจำนวน ไม่เกิน 4 หมื่นเหรียญ จากเดิมที่ผลิต 39,999 เหรียญ ราคาเหรียญละ 3,000 บาท แต่ในส่วนเหรียญที่ระลึกคิวโปรนิกเกิล ราคาเหรียญละ 100 บาท ไม่มีการผลิตเพิ่ม โดยขณะนี้ยังมีจำนวนเหลือเพียงพอสำหรับการจองอีกประมาณ 23 ล้านเหรียญ
….และแล้วคนกรุงเทพฯฝันสลายชวดนั่งรถเมล์ NGV อาจจะเป็นไปได้ว่ารอไปถึงปีหน้า 2560 โน่นแหละ ภายหลังผลการยื่นซองเอกสารประกวดราคาตามโครงการจัดหารถโดยสารประจำทางใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (เอ็นจีวี) 489 คัน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ผลปรากฏว่าบริษัทเอกชนที่ซื้อซองเอกสารไป 3 ราย คือ 1 บริษัทไทยเทคโนโลยี แอนด์ เดเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท เบสริน กรุ๊ป จัด และ3 กิจการร่วมค้าเจวีซี นำโดยบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ไม่มีรายใดยื่นซองเอกสารสักราย ทำให้การเปิดประมูลรถเมล์เอ็นจีวีรอบที่ 2 ต้องล้มไปโดยปริยาย และหลายคนงงเป็นไก่ตาแตก ไปตามๆกัน กับราคากลางอยู่ที่ 3,387 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคากลางเดิมที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เคยชนะประมูลโครงการมาแล้ว และนำไปปมประเด็นฟ้องร้องกัน ทั้งที่ความจริงแล้วหากเคาะราคากลางเท่ากับครั้งแรกอยู่ที่ 4 พันกว่าล้านบาท มันเกิดอะไรขึ้น กระทรวงคมนาคมทราบแล้วช่วยบอกทีเถอะ
….ยิ่งไปกว่านั้น การประมูลรถเมล์เอ็นจีวีรอบนี้ ยังเกิดคำถามว่า บริษัทเบสท์ริน เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ได้หรือไม่ แต่ในท้ายที่สุด บอร์ดขสมก. “กลับลำ” ขึ้นป้ายแบลต์ลิสต์ ห้ามบริษัทเบสท์ริน เข้าร่วมประมูล โดย ณัฐชาติ จารุจินดา ประธานกรรมการบริการกิจการ(บอร์ด) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ยืนยันว่า บอร์ดขสมก.เห็นควรให้ขึ้นบัญชีดำ บริษัทเบสท์ริน ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งแรก และไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามระยะเวลาที่กำหนด และยังมีคดีฟ้องร้องกันอยู่ด้วย … .เอาเป็นว่า คนกรุงเทพฯและประชาชนรอบๆปริมณทล ต้องทำใจก้มหน้าก้มตาทนนั่งรถเมล์คันเก่าๆไปก่อน ส่วนการเปิดประมูลใหม่ หรือรอบที่ 3 เห็นทีต้องใช้เวลาอย่างน้อยต้องใช้ประมาณ 2 เดือนกว่าจะเริ่มประมูลได้ ฟังอย่างนี้แล้วจะไม่เรียกว่า มหากาพย์รถเมล์เอ็นจีวี ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
…ชะตากรรมคนกรุงเทพฯนอกจากไม่ได้นั่งรถเมล์เอ็นจีวีแล้ว ต้องเผชิญกับเตรียมตัวจ่ายค่าโดยสารเพิ่ม รถไฟฟ้า “บีทีเอส” ประกาศปรับขึ้นราคาโดยสารใหม่ ดีเดย์วันที่ 1 ตุลาคม 2560 นี้ สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 บริษัทฯ จะปรับราคาค่าโดยสารที่เรียกเก็บสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสในส่วนของเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต – สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีสะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร จากราคา 15 บาท – 42 บาท เป็น 16 บาท – 44 บาท ….โดยจะเรียกเก็บสถานีแรก 16 บาท สองสถานี ราคา 23 บาท สามสถานี ราคา 26 บาท สี่สถานี ราคา 30 บาท ห้าสถานี ราคา 33 บาท หกสถานี ราคา 37 บาท เจ็ดสถานี ราคา 40 บาท แปดสถานีเป็นต้นไป ราคา 44 บาท ซึ่งอัตราใหม่นี้เพิ่มขึ้น 1 – 3 บาทเมื่อเทียบกับค่าโดยสารเดิม ทั้งนี้ การปรับราคาค่าโดยสารใหม่ยังคงอยู่ต่ำกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานซึ่งอยู่ในอัตรา 20.11 – 60.31 บาท
…วกไปดูผลงานการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯต้องใช้มาตรา 44 ระงับการบังคับใช้ในบางมาตราออกไปก่อน 180 วัน หรือสิ้นปี 2560 แต่เท่านั้นยังไม่พอ ทาง สภาองค์กรนายจ้าง 9 องค์กรภาคีเครือข่ายนายจ้างได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เสนอแนวทางแก้ไขกฎหมายแรงงานต่างด้าวให้สอดรับกับข้อเท็จจริง แม้ใช้ ม.44 ผ่อนผัน แต่หลายมาตราก็ยังคงไม่เอื้อ ทั้งบทปรับที่สูงเกินเปรียบเหมือนการค้ามนุษย์ บทลงโทษเป็นคดีอาญา อาชีพสงวนที่ควรปรับปรุงเพราะล้าหลัง ….เรื่องนี้มีเสียงสะท้อนจาก ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยว่า กฎหมายฉบับนี้เกี่ยวกับแรงงาน เป็นกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจ เนื่องจากแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่ง แต่เรากลับนำแนวคิดเศรษฐกิจผสมกับเรื่องความมั่งคง ดังนั้น จึงส่งผลกระทบในลักษณะ “ เพี้ยนๆ ” ….ส่วนทางแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าวให้สอดรับกับการดำเนินงานในปัจจุบันและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่จะเป็นอุปสรรคในอนาคตแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศใช้ ม.44 ชะลอบังคับใช้ใน 4 มาตราของ พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 ออกไปจนถึง 31 ธ.ค. 60 แล้วก็ตาม ทั้งหมดเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายจริงๆทราบแล้วเปลี่ยน