นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(บอร์ดดีอี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ในวันนี้ 6 ก.ย.นี้ กสทช.ได้นำเรื่องโครงการจัดให้มีบริการโทรคมนมคมอย่างทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกล หรือ “อินเตอร์เน็ตชายขอบ” จำนวน 3,920 หมู่บ้าน โดยชี้แจงให้บอร์ดดีอีได้รับทราบถึงการดำเนินการทั้งหมด รวมถึงทุกข้อสงสัยของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และการกำหนดราคาค่าบริการในอัตราเดือนละไม่เกิน 200 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน
“กสทช.ยืนยันการเปิดประมูลโครงการเน็ตชายขอบนั้น เป็นการทำหน้าที่ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2544และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯพ.ศ. 2560 รวมถึงระเบียบปฏิบัติของกสทช.ทุกข้อ และกสทช.จะทำให้ครัวเรือนในพื้นที่ห่างไกลได้ใช้บริการโทรคมนาคมด้วยราคาที่ไม่แพง ด้วยพื้นที่ 3,920 หมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่ไม่มีบริการโทรคมนาคม เพราะไม่มีผู้ประกอบรายใดไปลงทุน เนื่องจากไม่คุ้มค่า เมื่อกสทช. ได้เปิดประมูลเพื่อจ้างเอกชนก็ไปติดตั้งเพื่อเปิดให้บริการเป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้น กสทช.จะโอนทรัพย์สินให้กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เพื่อนำไปบริหารจัดการต่อไป”
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)เป็นผู้ดำเนินการแทนนั้น กระทรวงดีอีจะรายงานสถานะการติดตั้งล่าสุดได้ติดตั้งแล้ว 15,650 หมู่บ้าน เหลือเพียง 9,050 หมู่บ้านเท่านั้น คาดติดตั้งแล้วเสร็จครบ 24,700 หมู่บ้านภายในเดือน ธ.ค.2560 นี้ ส่วนค่าบริการน้ันเบื้องต้นกระทรวงดีอีและทีโอทีได้หารือกำหนดค่าบริการอินเตอร์เน็ตประชารัฐในอัตราเดือนละ 399-599 บาท ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับค่าบริการอินเตอร์เน็ตชายขอบของ กสทช.ทำให้กระทรวงดีอีและทีโอที ต้องทบทวนการคำนวณค่าบริการอินเตอร์เน็ตรายเดือนใหม่