ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ออกแถลงความสำเร็จผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกโตเกินคาดถึง 3.7 %สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาสนับจากปี 2556 โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออก ท่องเที่ยว บริการ รวมทั้งการลงทุนเอกชนเริ่มฟื้นตัว จน สคช.ปรับประมาณการจีดีพีเศรษฐกิจไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.5-4.0% จากเดิม 3.3-3.8%
แต่เมื่อกระทรวงคมนาคมออกโรงแถลงผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (Action Plan 2560) ที่ได้พิจารณาคัดเลือกเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558 – 2565 โครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วน รวมถึงโครงการสำคัญที่ต้องการเร่งผลักดัน จำนวน 36 โครงการจาก 6 กลุ่มโครงการ วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 893,776.09 ล้านบาท
โดยผลสำเร็จหลังดำเนินการผ่านระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมาผลปรากฏว่า Action Plan 2560 จำนวน 36 โครงการอันสวยหรูแต่ดันขยับแค่ 6 โครงการที่เหลือ “อืดเป็นเรือเกลือ” อันเป็นผลมาจากการเลื่อนการประมูล การปรับปรุงเงื่อนไขการประกวดราคา(TOR)และราคากลางใหม่ การปรับแผนการก่อสร้างใหม่จนเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนกรอบเวลาการดำเนินการออกไปจากเดิมนับ 10 โครงการ ขณะที่อีกหลายโครงการยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมข้อเสนอโครงการให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเห็นชอบ
ทำเอาทุกฝ่ายถึงกับ “อึ้งกิมกี่”กับความคาดหวังให้เป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ตลอดถึงเป็นแรงหนุนจีดีพีเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้ถึง 1.0 % ตามคาดหวังเอาไว้
ก่อให้เกิดคำถามว่าแล้วความคาดหวังที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามที่ภาครัฐประเมินไว้ข้างต้นจะมีความเป็นไปได้แค่ไหน?
คลี่ Action Plan 2560 ติด“โรคเลื่อน”
แผนปฏิบัติการเร่งด่วน Action Plan 2560 จำนวน 36 โครงการวงเงินลงทุนกว่า 839,776 ล้านบาท ที่กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาคัดเลือกเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ ที่จะเร่งรัดดำเนินการในปี 2560 และมีอันต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคจนต้อง“เลื่อน”และ“ล่าช้า” ไปจากกรอบเวลาเดิมออกไปนับ 10 โครงการนั้นจากการตรวจสอบพบว่า
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักที่ต้องกุมขมับกับความล่าช้าและเลื่อนกรอบเวลาดำเนินงานออกไปของรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง โดย นายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.ได้ปรับแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยแผนงานใหม่เป็นการเลื่อนกรอบเวลาดำเนินงานรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง คือ 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงิน 4.7 หมื่นล้านบาท และ 2.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการจะเลื่อนระยะเวลาเริ่มก่อสร้างออกไป 6เดือนจากเดิมเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นเดือน ธ.ค. 2560 ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการส่งมอบพื้นที่ของรฟม.
“เส้นทางที่ 3 คือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน109,342 ล้านบาท ซึ่งเส้นทางนี้อยู่ใน Action Plan 2560 ของกระทรวงคมนาคมอีกด้วย โดยได้เลื่อนเป้าหมายการเสนอให้ ครม. เห็นชอบจากเดิมเดือน ก.ค.60 ที่ผ่านมาเป็นเดือน เม.ย. 2561เพื่อศึกษาการให้เอกชนร่วมทุน (PPP) ตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนโครงการสุดท้ายคือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 101,112 ล้านบาท ซึ่งจะเลื่อนเป้าหมายการประกวดราคาจากเดือน ต.ค. เป็นเดือน ธ.ค. นี้ ส่วนผลการประมูลก็จะเลื่อนจากเดิมเดือน ส.ค. 2561 เป็นเดือน พ.ย. 2561”
เด้งฟ้าผ่า “วุฒิชาติ” เซ่นประมูลทางคู่อืด!
ขณะเดียวกัน ผลพวงจากการที่นายกฯตู่งัด ม. 44 เด้งฟ้าผ่า“วุฒิชาติ กัลยาณมิตร” ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เข้ากรุช่วงเดือนก.พ.60 ก่อนแต่งตั้งให้ “okpอานนท์ เหลืองบริบูรณ์”รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมสั่งผ่าตัดบอร์ดรถไฟฯใหม่ ส่งผลกระทบการประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางมูลค่ากว่า 92,031 ล้านบาท ซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการใน Action Plan ของกระทรวงคมนาคมให้ต้องล่าช้าออกไปอีก
แม้ล่าสุด รักษาการผู้ว่ารถไฟฯ ระบุถึงความคืบหน้าว่า รฟท.ได้ดำเนินการขายซองประกวดราคาไปหมดแล้ว โดยจะเร่งประมูลให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.นี้ และลงนามสัญญาให้ครบ 5 เส้นทางภายในเดือน พ.ย.60 โดยในวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมาได้เปิดให้เสนอราคารถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเร่งดำเนินการในเส้นทางอื่นๆ อาทิ เส้นทางช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 16,234 ล้านบาท และช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 28,505 ล้านบาท และช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 23,921 ล้านบาท
“ส่วนโครงการรถไฟทางคู่อีก 9 เส้นทาง ระยะทาง 2,217กม.มูลค่ารวม 3.98 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการลงทุนของ รฟท. ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (Action Plan) ปี 2560 ซึ่งซูเปอร์บอร์ดสั่งให้ รฟท.กลับมาทบทวนใหม่นั้น ขณะนี้มีความชัดเจนเกือบทั้งหมดแล้ว เหลือแค่เพียงเส้นทางช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 75 กม. และเส้นทางช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 217 กม. ที่ต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และจะเร่งเสนอซูเปอร์บอร์ด และกระทรวงคมนาคมภายในไตรมาส 4 เพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการภายในปลายปี 60 นี้ คาดจะสามารถทยอยขายซองประกวดราคา และเปิดประมูลโครงการได้ในช่วงต้นปี 61”
รถไฟความเร็วสูงไทย–จีน, ECC “ปูเสื่อรอ”!
นอกเหนือจากแผนปฏิบัติการ Action Plan ข้างต้น ในส่วนของโครงการเมกะโปรเจ็กต์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง “ไทย-จีน”เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง253 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 179,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งมานานแรมปี และล่าสุด ครม.จะเพิ่งไฟเขียวอนุมัติสัญญาจ้างจีนออกแบบงานโยธาโครงการฯวงเงินค่าจ้าง 1,706.8 ล้านบาท และเร่งเจรจาร่างสัญญาการจ้าง ที่ปรึกษาควบคุมงานโยธา วงเงิน3,500 ล้านบาท โดยต้องสรุปให้เสร็จภายใน 1 เดือนก่อนนายกรัฐมนตรีเดินทางไปร่วมประชุมกลุ่มประเทศ BRIC SUMMIT ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้รฟท. ลงนามร่วมกับจีน
แต่นั่นก็ยังเป็นระยะเวลาแค่เริ่มต้นเท่านั้น เพราะยังมีสัญญาและเงื่อนไขอื่นจ่อคิวเป็นตับที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเจรจาหาข้อตกลงกันก่อนที่การก่อสร้างจะเป็นรูปเป็นร่าง
“ส่วนโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่รัฐบาลตีปี๊ปมาร่วมปีหวังบูรณาการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานอย่างสมดุล เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและพัฒนาเขตเมืองใหม่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต เพื่อการเติบโตอย่างมีทิศทาง กระจายความเจริญทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาค และสร้างโอกาสในการทำงานเพิ่มเงินภาษีสู่ท้องถิ่น พร้อมประเคนสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนต่างชาติกันสุดลี่ม จนถึงเวลานี้ก็ยังถูกสังคมตั้งคำถามว่ามีการลงทุนจริงบ้างแล้วหรือยัง?”
สำหรับ Logistics Time แล้ว เมื่อประมวลความคืบหน้าโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐข้างต้นเหล่านี้ ที่แต่ละโครงการอาจต้องเลชื่อนออกไป 6 เดือน – 1 ปีเป็นอย่างน้อย ขณะที่เศรษฐกิจไทยนั้นตั้งความหวังไว้กับการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก
แต่เมื่อโครงการเมกะโปรเจ็กต์แสนล้านดันมาตกม้าตายเอาตอนจบและต้องเลื่อนออกไปเป็นพรวนเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังการลงทุนภาคเอกชน(Investment) และการจับจ่ายใช้สอย(Consumption)ของภาคประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความคาดหวังของหน่วยงานต่างๆต่อประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่คาดหวังว่าจีดีพีของประเทศในปีนี้เอาไว้สวยหรูไต่ระดับ 3.5-4.0%นั้น….ดูเหมือนจะสวนทางกับเหตุปัจจัยที่กำลังเกิดขึ้นโดยสิ้นเชิง!