นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าวันนี้(29 ส.ค.)ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างสัญญา 2.2 งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 179,412.21 ล้านบาท อีกทั้งครม.ยังเห็นชอบให้มีการปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้างเพิ่ม จากเดิม 1,649.08 ล้านบาทเป็น 3,500 ล้านบาทรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
“ภาพรวมถือว่ายังต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ฝ่ายจีนเสนอมาที่ 5,500 ล้านบาท โดยกรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาใหม่คิดเป็น 3% ของวงเงินก่อสร้างงานโยธาที่มีวงเงินรวม119,163.88 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังที่กำหนดไว้งานระบบขั้นตอนการบริหารและคุมงานก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มากกว่า 60,000 ล้านบาท จะต้องอยู่ระหว่างอัตรา 3.5-4.5% ของมูลค่าการก่อสร้าง”
ส่วนกรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาเพิ่มขึ้นมากอีก 1,851 ล้านบาทนั้น นายอาคม ระบุว่ากระทรวงฯได้มีการดึงงบบางส่วนของงานโยธา หรืองบในสัญญา 2.1 มาใส่ไว้ในสัญญา2.2 แทน โดยงบที่โยกมามีทั้งหมด 4 รายการ คือ งบค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้จากสัญญา 2.1 วงเงิน 118 .06 ล้านบาท ,ค่าเครื่องมือเครื่องใช้สำนักงาน 70.6 ล้านบาท ,ค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยในการก่อสร้าง1179.14 ล้านบาท และ ค่าบริหารจัดการของฝ่ายไทยอีก 483.06 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,851 ล้านบาท ทั้งนี้ ยืนยันว่ากรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาคุมงานที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่องบก่อสร้างภาพรวม โดยงบลงทุนภาพรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นยังอยู่ในกรอบ179,412.21 ล้านบาท
นอกจากนี้ นายอาคม กล่าวต่อีกว่าในวันที่ 4 ก.ย.ที่จุะถึงนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และองค์การออกแบบรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน(China Railway Design Corporation: CRDC)จะลงนามในสัญญา 2.1 และ2.2 ร่วมกันที่เมืองเซี๊ยะเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางไปร่วมประชุม BRICs Summit ที่ประเทศจีนระหว่างวันที่ 4-5 ก.ย.จะเดินทางไปเป็นประธานในพิธีลงนามด้วย
“ภายหลังลงนามในสัญญา 2.1 และ2.2 ทางการจีนจะส่งแบบก่อสร้างมาให้ไทย เพื่อให้เริ่มดำเนินงานก่อสร้าง ระยะแรก 3.5 กิโลเมตร เส้นทางกลางดง-ปางอโศก ได้ในช่วงปลายเดือนต.ค. แต่ทั้งนี้ก็จะต้องรอผลการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย คาดจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.นี้ ส่วนการออกแบบก่อสร้างในตอนที่เหลือ คือตอนที่ 2 ,3 และ 4 นั้น ได้ขอให้จีนเลื่อนระยะเวลาส่งมอบแบบให้เร็วขึ้น จากเดิมกำหนดให้ส่งมอบทั้งหมดให้แล้วเสร็จภานใน 8 เดือนหลังลงนามในสัญญา ทั้งนี้ ก็เพื่อให้รฟท. มีระยะเวลาการเตรียมแผนที่จะเปิดประมูลหาผู้รับเหมาในตอนที่ 2 3 และ 4 เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง