สะพานภูมิพล…วงแหวนขนส่งสินค้า
ปลดล็อค“ปัญหารถติด” พื้นที่ชั้นใน
ห้วงเวลาที่ปวงชนชาวไทยทั้งแผ่นดินกำลังเผชิญกับความโศกาอาดูรอย่างถึงที่สุดหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทำให้ถนนทุกสายพุ่งตรงไปยังพระบรมหาราชวังอันเป็นที่ตั้งของพระบรมศพ ที่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าเรือนหมื่นเรือนแสนจากทุกสารทิศของแผ่นดินไทยหวังได้เข้าร่วมถวายพระบรมศพ และส่งเสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัยเป็นครั้งสุดท้ายในครั้งหนึ่งของชีวิตที่ได้มีบุญเขตเกิดบนแผ่นดินของพระองค์ภายใต้ข้ารองพระบาทในชาตินี้
ผลพวงจากห้วงเวลาดังกล่าวนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ต่างต้องเตรียมความพร้อมตามบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบในทุกด้านเพื่อรองรับคลื่นมหาชนในแต่ละวัน สะท้อนให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่มีต่ององค์พ่อหลวงผู้เป็นที่เทิดทูลเหนือเกล้ายิ่งของอาณาประชาราษฎร์อย่างหาที่สุดมิได้ และได้หลอมรวมเป็นพลังแห่งความรู้รักสามัคคีอย่างที่พ่อหลวงเคยพร่ำสอนมาโดยตลอด และพร้อมใจกันว่ายข้ามทะเลทุกข์ให้จงได้
หากจะกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระราชกรณียกิจนานัปการ รวมถึงโครงการต่างๆตามแนวพระราชดำริที่มีมากกว่า 4,400 โครงการ ที่ยากจะพรรณนาให้ครบถ้วนในที่นี้ได้ ดัมพ์แมนโชว์ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ด้วยการน้อมนำเสนอโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ตอบโจทย์ด้านโครงข่ายคมนาคมขนส่งสินค้า ระบายรถบรรทุกสินค้าจากอุตสาหกรรมในพื้นที่ชั้นนอกเข้าสู่พื้นที่ชั้นในให้เกิดความคล่องตัว นั่นก็คือ “โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม”
สะท้อนพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล
โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมเป็นโครงการก่อสร้างระบบาธารณูปโภคขนาดใหญ่อันเนื่องจากพระราชดำริ ภายใต้การดำเนินงานของกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด สืบเนื่องจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างเป็นถนนวงแหวนอุตสาหกรรม สำหรับรองรับรถบรรทุกให้วิ่งอยู่ในเส้นทางที่เป็นวงแหวนเชื่อมระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กับบริเวณท่าเรือคลองเตย เพื่อไม่ให้รถบรรทุกเหล่านี้วิ่งเข้าไปยังเมืองหรือทิศทางอื่นๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรให้เบาบางลง
“โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ประกอบด้วยส่วนที่เป็นถนนวงแหวนเชื่อมโยงพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับท่าเรือคลองเตย ความยาวรวมประมาณ 25 กิโลเมตร ส่วนที่เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 2 สะพาน มีรูปแบบเป็นสะพานขึง ตัวสะพานมีความกว้าง 7 ช่องจราจร ความยาวรวมประมาณ 4.2 กิโลเมตร นอกจากนี้ บริเวณจุดต่อเชื่อมระหว่างสะพานทั้ง 2 แห่ง จะมีทางแยกเป็นทางยกระดับ ความกว้าง 4 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 2.2 กิโลเมตร ไปบรรจบกับถนนสุขสวัสดิ์ทางทิศตะวันตกด้วย ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นรวม 8,739 ล้านบาทเศษ”
สะพานภูมิพล…มรดกล้ำค่าดุจหัวแหวนส่องประกายทั่วทิศ
จุดเด่นของโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมอยู่ที่การออกแบบให้มีสะพานขึงด้วยสายเคเบิล (Cable Stayed Bridge) สองระนาบแบบสมมาตรจำนวนสองสะพานต่อเนื่องกัน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือบริเวณถนนพระราม 3 และด้านทิศใต้บริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย ขนาด 7 ช่องจราจร แบ่งเป็น 4 ช่องจราจรสำหรับขาขึ้น ซึ่งจัดเป็นช่องทางพิเศษสำหรับรถบรรทุก และสามช่องจราจรสำหรับขาลง โดยบริเวณส่วนกลางของสะพานจะมีความสูงประมาณ 58 เมตร เพื่อให้เรือขนส่งสินค้าสามารถผ่านเข้า- ออกท่าเรือคลองเตยได้ สอดคล้องกับบริเวณกึ่งกลางระหว่างสองสะพานมีทางแยกต่างระดับสูงจากพื้นประมาณ 45 เมตร ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการกระจายรถไปสู่สามทิศทาง พร้อมออกแบบเสาสูงของสะพานให้เป็นเหลี่ยมเพชร (Diamond Shape) เปรียบเสมือน “หัวแหวนส่องประกายไปทั่วสารทิศ” โดยที่ยอดของเสาแสดงถึงสัญลักษณ์ของความเป็นไทย
“ด้วยวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ทรงเล็งเห็นถึงการสร้างโครงข่ายถนนจากท่าเรือกรุงเทพไปยังเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดสุมทรปราการและภูมิภาคอื่นๆ โดยไม่ต้องให้รถบรรทุกวิ่งเข้าไปในตัวเมือง จึงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างสะพานเพื่อเชื่อมต่อระหว่างเขตยานนาวา และเขตราษฏร์บูรณะเข้ากับอำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 แห่ง โดยด้านทิศเหนือเชื่อมกรุงเทพมหานครกับจังหวัดสมุทรปราการ ว่า “สะพานภูมิพล 1″ส่วนด้านทิศใต้เชื่อมอำเภอพระประแดงกับตำบลสำโรงใต้ พระราชทานชื่อว่า “สะพานภูมิพล 2″ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552”
สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเงิน-เวลา
โดยสะพานทั้ง 2 แห่งจะช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ และส่งต่อไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ให้เร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้การเดินทางจากฝั่งธนบุรี ย่านบางมด พระประแดง พระราม 2 และสมุทรสาคร ข้ามไปยังฝั่งพระนครได้สะดวกรวดเร็วขึ้นมาก เป็นการประหยัดเงิน และประหยัดเวลา อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณรถยนต์ที่จะเข้าไปในเมือง โดยเฉพาะเวลาเร่งด่วน จึงช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในเมืองได้อีกทางหนึ่ง
“ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ จะเสด็จสวรรคต พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ประทับเรือพระที่นั่งอังสนา ที่กองทัพเรือจัดถวาย เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปยังคลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 หรือ สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม และทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2553”
สะพานภูมิพลนี้นับได้ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณภายใต้โครงการพระราชดำริล่าสุด ที่เอื้อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อพสกนิกรชาวไทยจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ผนวกกับพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่เล็งเห็นถึงเส้นทางที่ตอบโจทย์ด้านคมนาคมขนส่งสินค้า ลดปัญหาการจราจรที่ติดขัด และสร้างความสะดวกสบาย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการสัญจรไปมาหาสู่ของประชาชนทั้งสองฝากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ทำให้ในวันนี้ประเทศไทยเราได้มีสะพานแห่งใหม่ ที่สร้างภูมิทัศน์ที่โดดเด่นและสวยงามให้กับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คู่ขนานกับประโยชน์ที่เป็นเส้นทางเชื่อมโยงโครงการในการดำเนินธุรกิจและไปมาหาสู่ของประชาชน ที่ปวงชนชาวไทยควรน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบกาลนิรันดร์