สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จัดสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้า จังหวัดพิษณุโลก (Logistics Hub) เพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการค้า และการบริการ รวมทั้งการลงทุนในภูมิภาค ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด “เมืองบริการเศรษฐกิจและสังคมสี่แยกอินโดจีน”
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ซึ่งเน้นการขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ โดยสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาคและอาเซียนอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ที่กำหนดเป้าหมายด้านยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีบทบาทหลักในภูมิภาคทั้งด้านโลจิสติกส์ การค้า การบริการ และการลงทุน เป็นศูนย์กลางการกระจายความเจริญในภูมิภาคเอเชีย กลุ่มอาเซียน และอนุภูมิภาค โดยมีแนวทางการพัฒนาสร้างความพร้อมภายในประเทศเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงระหว่างประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพ
จังหวัดพิษณุโลกเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทยที่มีความพร้อมด้านภูมิประเทศ และเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนล่างที่เชื่อมต่อกับภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญอยู่ในแนวเส้นทาง North – South Economic Corridor (NSEC) และ East – West Economic Corridor (EWEC) สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเมียนมา ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การบริการในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน
สนข. ได้ร่วมมือกับจังหวัดพิษณุโลกดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้าจังหวัดพิษณุโลก (Logistics Hub) เพื่อศึกษาศักยภาพการพัฒนาและปัจจัยที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลก เพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อย่างแท้จริง สนข. ได้กำหนดรูปแบบของการศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้า จังหวัดพิษณุโลก (Logistics Hub) จำนวน 4 ประเภท ดังนี้
1. ศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ (Transport Logistics Hub) เป็นพื้นที่ดำเนินการบรรจุภัณฑ์ รับฝากและกระจายสินค้า รวมถึงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
2. ศูนย์การค้าส่ง ค้าปลีก และโลจิสติกส์ (Trade Logistics Hub) เป็นพื้นที่ดำเนินการซื้อ ขายสินค้าทั้งค้าปลีกและค้าส่งควบคู่กับการกระจายสินค้า
3. ศูนย์ผลิตอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ (Industrial Logistics Hub) เป็นพื้นที่ให้บริการ โลจิสติกส์ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการขนส่งและกระจายสินค้าให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่โดยรอบ โดยมีบริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางโลจิสติกส์
4. เขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park/Freight Village) รัฐเป็นผู้กำหนดพื้นที่การทำกิจกรรมโลจิสติกส์ภายในและแบ่งพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเช่าหรือซื้อ โดยผู้บริหารศูนย์ฯ เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารและทำการตลาด รวมทั้งติดต่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าใช้พื้นที่
การพัฒนาศูนย์กลางโลจิสติกส์ เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นและภูมิภาค คาดว่าจะส่งผลให้รายได้มวลรวม (GDP) ของจังหวัดมีอัตราสูงขึ้นมากกว่าอัตราการขยายตัว ร้อยละ 3.7 และคาดว่าเศรษฐกิจของจังหวัดจะเติบโตขึ้น 2 เท่า เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้สู่จังหวัดประมาณ 4,000 ล้านบาท ภายในปี 2566 รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย สนข. จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการสัมมนาฯ ไปประกอบการศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้าจังหวัดพิษณุโลก (Logistics Hub) ให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด