ภายหลังการประชุมการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2560 ที่มีขุนพลเศรษฐกิจ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ณ ห้องประชุม 302 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัด ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าร่วมประชุม
6 โครงการกำลังก่อสร้าง 3 โครงการเริ่มก่อสร้าง 7 โครงการเตรียมเสนอครม.
โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงคมนาคม ได้สรุปผลการประชุมว่าอันดับแรกเป็นแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยที่ประชุมรับทราบสถานะการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าตามแผนการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ เดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 6 โครงการ ระยะทางรวม 119.5 กิโลเมตร ได้แก่ สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และบางซื่อ – ท่าพระ เปิดให้บริการปี 2563 สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ เปิดให้บริการเดินรถ 1 สถานี ต่อจากสถานีแบริ่งไปยังสถานีสำโรง โดยโครงการทั้งหมดจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2561 สายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต เปิดให้บริการปี 2563 สายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต เปิดให้บริการปี 2563 สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธาแล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เปิดให้บริการปี 2566 และสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน เปิดให้บริการแล้ว 3 สถานี
“ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างประกวดราคาและจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 3 โครงการ ระยะทางรวม 90.4 กิโลเมตร ได้แก่ สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ลงนามในสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน – หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างทบทวนการจัดทำเอกสารประกวดราคา”
นอกจากนี้ โครงการที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีปี 2560 จำนวน 7 โครงการ ระยะทางรวม 103.2 กิโลเมตร ได้แก่ สายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค – พุทธมณฑลสาย 4 สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ – บางปู สายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต – ลำลูกกา สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา
อีกทั้งที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้ MOU ระหว่างกระทรวงฯ รฟม. และ กทม. ที่ได้เห็นชอบในหลักการให้ กทม. เป็นผู้บริการจัดการเดินรถและลงทุนส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และได้มอบให้กระทรวงฯ กทม. และกระทรวงการคลัง หารือรายละเอียดการลงทุน การโอนหนี้สิน และทรัพย์สิน
รถไฟฟ้ารางเบา จ.ภูเก็ต เปิดให้เอกชนร่วมทุนแบบ PPP
ส่วนการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต (รถไฟฟ้ารางเบา จ.ภูเก็ต) นั้น นายอาคม ระบุว่าที่ประชุมรับทราบผลการศึกษา ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 รูปแบบเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) มูลค่าโครงการในระยะแรก ช่วงจากท่าอากาศยานภูเก็ตถึงห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร เป็นเงินจำนวน 30,154 ล้านบาท การก่อสร้างเป็นทางวิ่งระดับดิน ยกเว้นบริเวณท่าอากาศยานภูเก็ตจะเป็นสถานียกระดับและมีทางลอดสำหรับระบบรถไฟฟ้า จำนวน 3 ทางลอด ตามแนวทางหลวงหมายเลข 402 มีจุดเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานภูเก็ตและสิ้นสุดโครงการบริเวณด้านเหนือของห้าแยกฉลอง
ทั้งนี้ โครงการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ได้บรรจุในโครงการตามมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) ปี 2560 ของกระทรวงฯ โดย รฟม. จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ต่อไป
สนข.จัดทำแผนระบบพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค
นอกจากนี้ นายอาคม ยังสรุปผลการประชุมถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค (จ.ขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา) ว่าสนข. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะ จ.ขอนแก่น และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุดในการพัฒนาเป็นโครงการนำร่อง ได้แก่ เส้นทางสายแนวเหนือ – ใต้ (สำราญ – ท่าพระ) ระยะทางประมาณ 22.8 กิโลเมตร โดยใช้ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา
ส่วนจ.เชียงใหม่ สนข. ก็อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ ระหว่างโครงข่ายทางเลือกแบบใช้ทางวิ่งบนดินและใต้ดินร่วมกับแบบที่ใช้ทางวิ่งบนดินทั้งหมด จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 36 กิโลเมตร ประกอบด้วย 35 สถานี ซึ่งการศึกษาฯ มีความคืบหน้า 90% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2560 ขณะที่จ.นครราชสีมา สนข. อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเช่นกัน โดยกำหนดแนวเส้นทางของระบบฯ จำนวน 3 เส้นทาง และจะเร่งรัดการศึกษาให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2560
นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นผู้ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเส้นทางที่เหมาะสม ได้แก่ สายคลองหวะ – สถานีรถตู้ เป็นรูปแบบระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Mona Rail) ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร ประกอบด้วย 12 สถานี มูลค่าการลงทุน 16,100 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแก้ไขรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามความเห็นของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี นายอาคม ได้สรุปถึงโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯว่าที่ประชุมได้พิจารณาผลการศึกษาความเหมาะสมฯ วงเงินลงทุนประมาณ 6,220 ล้านบาท ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร แนวทางการลงทุนรูปแบบ PPP ซึ่งจะทำให้โครงข่ายถนนและทางพิเศษสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างเป็นระบบ บรรเทาปัญหาการจราจรของพื้นที่เขตเมืองในกรุงเทพฯ และพัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักในกรุงเทพฯ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นทางเลือกการเดินทางโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน
“ซึ่งที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของการเชื่อมโยงโครงข่ายดังกล่าวตามผลการศึกษา และให้กระทรวงฯ มอบหน่วยงานเป็นเจ้าของโครงการฯ หรือดำเนินโครงการฯ และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ รฟท. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป”