รถใหญ่(ต้อง)ติด GPS ปลดแอก “ความปลอดภัยทางถนน”ได้จริงหรือ?

0
853

รถใหญ่(ต้อง)ติด GPS

ปลดแอก “ความปลอดภัยทางถนน”ได้จริงหรือ?

หลังนายกฯลุงตู่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้จุดพลุสั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคง และส่วนที่เกี่ยวข้อง คุมเข้มมาตรการดูแลความปลอดภัยและป้องกันเหตุร้าย เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลความปลอดภัยภายในประเทศ สร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความปลอดภัยทางถนน ความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติและภัยจากการก่อการร้าย ภายใต้วาระ “ประเทศไทยปลอดภัย” หรือ Safety Thailand โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ น่าท่องเที่ยว มีความปลอดภัย และพร้อมรับมือกับภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

ควันหลงจากการจุดพลุของผู้นำประเทศ ทำเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเด้งรับนโยบายดังกล่าวเป็นทิวแถว พร้อมกำหนดมาตรการให้เกิดรูปธรรมอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หน่วยงานแรกที่ออกตัวแรงก่อนชาวบ้านชาวช่อง คงหนีไม่พันกรมการขนส่งทาง(ขบ.) กระทรวงคมนาคม โดยกรมฯได้ออกประกาศให้รถรถบรรทุก-รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (GPS) ภายใต้โครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS”

ทั้งนี้ ภายใต้ประกาศฉบับดังกล่าว กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทและรถตู้ (ยกเว้น รถสองแถว, รถหมวด 4 และรถหมวด 1 ภูมิภาค) รถลากจูง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (10 ล้อขึ้นไป) ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ วันที่ 25 ม.ค.59 เป็นต้นไป ต้องติดตั้ง GPS ที่มีคุณลักษณะและระบบการทำงานตามประกาศกรมฯ ทุกคัน ในส่วนของรถที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันดังกล่าว ต้องดำเนินการติดตั้ง เชื่อมโยงข้อมูล หรือแก้ไขเครื่องบันทึกข้อมูลตามระยะเวลาที่กำหนดจึงจะสามารถดำเนินการต่ออายุทะเบียนรถได้

นอกจากนี้ รถโดยสารสาธารณะ รถลากจูง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (10 ล้อขึ้นไป) ที่ติดตั้ง GPS ไว้แล้ว ต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริการจัดการเดินรถของกรมการขนส่งทางบกภายใน ปี 2559 ส่วนรถโดยสารสาธารณะที่ยังไม่ได้ติดตั้ง GPS หากเป็นรถโดยสารสองชั้นกำหนดติดตั้งภายในรอบปีภาษี 2559 ส่วนรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ จะต้องดำเนินการติดตั้งให้ครบถ้วนภายในรอบปีภาษี 2560 ส่วนรถลากจูงกำหนดติดตั้งภายในรอบปีภาษี 2560 รถบรรทุกสาธารณะภายในรอบปีภาษี 2561 และรถบรรทุกส่วนบุคคลให้ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรอบปีภาษี 2562

จากประกาศฉบับดังกล่าว  กลายเป็นปมร้อนฉ่ากระแทกกระดองใจผู้ประกอบการขนส่งเมืองไทยเข้าเต็มเปา และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงในหลายประเด็นตามมา และกลายเป็นประเด็นดราม่าที่ถกเถียงกันระหว่างกรมการขนส่งทางบกกับผู้ประกอบการรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะในหลากหลายมุมมอง ดังนั้น LT เสวนาประสา 10 ล้อฉบับนี้ ปีศาจขนส่ง ใคร่ประมวลมุมมองในเหลี่ยมความคิดที่ต่างๆกัน ทั้งในส่วนภาครัฐ ผู้ประกอบการขนส่ง และผู้ประกอบการค่ายรถ

กรมฯ-ค่ายรถ ยัน GPS ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b8%97-%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b8%a9%e0%b9%8c

ประเดิมจากคุณสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ออกโรงร่ายเหตุผลการออกประกาศฉบับดังกล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุรถโดยสารและรถบรรทุก พบว่า เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถ และการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกได้จัดทำโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด เข้ากับศูนย์บริการจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบกแบบเรียลไทม์ เช่น ข้อมูลการใช้ความเร็ว ชั่วโมงการขับขี่ และตำแหน่งพิกัดของรถ

“การออกประกาศฉบับดังกล่าว ก็เพื่อยกระดับความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนเป็นหลัก ภายใต้กรอบกติกเดียวกัน การติดตั้ง GPS จะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการขนส่งสามารถติดตามพฤติกรรมผู้ขับรถแบบเรียลไทม์ เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารการขนส่งทางบกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อีกด้วย”

%e0%b8%ad%e0%b8%b3%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%a2-%e0%b8%9e%e0%b8%87%e0%b8%a9%e0%b9%8c%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%93%e0%b9%8c

สอดคล้องกับมุมมองของคุณอำนวน พงษ์วิจารณ์ กรรมการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการค่ายรถบรรทุกยักษ์ใหญ่จากแดนปลาดิบ กล่วว่าต้องชื่นชมกรมฯที่ต้องการควบคุมมาตรฐานผู้ประกอบการขนส่งภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และยังจะเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของไทยอีกด้วย อีกทั้งยังเอื้อประโยชน์ต่อการยกระดับมาตรฐานการผลิตของค่ายรถต่างๆ

‘หากค่ายรถใหญ่จะออกรถรุ่นใหม่มาก็ต้องติดตั้ง GPS ให้เสร็จสรรพมาตั้งแต่โรงงานเลย ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าไปในในตัว จะบวกราคาเท่าไหร่ หรือจะมีโปรชั่นพิเศษอะไรก็แล้วแต่ข้อจำกัดของแต่ละค่ายรถ ส่วนมาตรการรองรับเรื่องนี้ของฮีโน่ ตั้งแต่รุ่น Hino Vitor 500 ที่เราเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว เราติดตั้ง GPS ซึ่งได้มาตรฐานที่กรมฯรับรองให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการขนส่งสบายใจได้เลย

เฮียยู-เฮียวอ ตีแสกหน้ากรมฯ “ไร้ศักยภาพ-ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”

%e0%b8%a2%e0%b8%b9

ฟากฝั่งคุณยู  “เฮียยู  เจียรยืนยงพงศ์” ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ออกโรงค้านหัวชนฝา พร้อมยกเหตุผลล่มกรมฯชนิดสุดลิ่มทิ่มประตูว่า การที่กรมฯตีโป่งออกประกาศเยี่ยงนี้ เหมือนหมัดมือชกผู้ประกอบการขนส่งไทย ยังฝากคำถามให้กรมฯได้ขบคิดอย่างถี่ถ้วนและทำการบ้านหน่อย กรมฯได้ทำการศึกษาอย่างเป็นระบบและรอบด้านหรือไม่ กรมฯมีความพร้อมบ้างหรือไม่ ที่จะดูแลควบคุมรถบรรทุกที่มากกว่าเกือบล้านคันได้ บุคลากรและเทคโนโลยีพร้อมหรือยัง หรือแค่อยากสนองนโยบายนายกฯลุงตู่เท่านั้น โดยที่ไม่สอบถามถึงความพร้อมของผู้ประกอบการ รวมถึงความโปร่งใสด้านการบริหารจัดการในการกำหนดสเปก GPS ของผู้ประกอบการติดตั้งที่กรมฯรับรองมาตรฐาน ผู้ประกอบการขนส่งรายใหญ่ไม่มีปัญหาหรอก แต่รายย่อยที่มากกว่า 80 % ที่ต้องรับภาระต้นทุนนี่ในการติดตั้งในราคา 8,000 -15,000 บาทโดยที่จะมีค่าสื่อสารรายเดือนประมาณ 250 – 350 บาท

%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b9%8c

ด้านคุณวรวิทย์ เจริญวัฒนพันธ์  อดีตนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ให้ความเห็นว่าการติดตั้ง GPS มีความจำเป็นและประโยชน์ในการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของยานพาหนะกลุ่มนี้เพื่อยกระดับความปลอดภัย และจะช่วยให้สามารถลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุได้จริงๆหรือไม่ หรือมีการศึกษาหรือหลักฐานที่บ่งบอกถึงความมีประสิทธิภาพของระบบดังกล่าวในการช่วยลดอุบัติเหตุที่รอบด้านครบถ้วนหรือยัง และอยากฝากไปถามกรมฯว่าในเชิงการปรับใช้หรือความมีประสิทธิผลในการควบคุมความปลอดภัยโดยใช้ข้อมูลจากระบบดังกล่าว กล่าวคือหากมีการติดตั้งระบบติดตามแล้วทางหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบจะสามารถนำข้อมูลมาควบคุมความปลอดภัยของผู้ประกอบการได้จริงหรือไม่ อย่างไร และอาจถูกสังคมค่อนขอดว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำก็เป็นได้

หากจะว่าไปแล้วก็ต้องให้เครคิตกรมฯที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อต้องการยกระดับความปลอดภัยภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถควบคุมและกำกับดูแลได้ง่าย และในเชิงปฏิบัติการผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กรมฯลืมคิดไปหรือเปล่าว่าความพร้อมของผู้ประกอบการขนส่งเมืองไทยมีมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่อยากจะตีปี๊ปออกประกาศอะไรออกมาใช้ตามอำเภอใจ ก็อาจจะดูไม่สง่างามและอาจถูกตั้งสารพัดคำถามตามหลังมาถึงความโปร่งใสของภาครัฐ ที่อาจเปิดช่องให้เหลือบไรทั้งหลายเขมือบผลประโยชน์จากการประกาศฉบับดังกล่าว

และที่สำคัญอาจกลายเป็น “เครื่องมือ” ทำมาหากินของเจ้าหน้าที่รัฐน้ำเลว(บางคน)บนความเดือดร้อนของประชาชนตาดำๆก็เป็นได้