นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ก้าวสู่องค์กรรักษ์สุขภาพ รักษ์โลก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ร่วมกับ ดร. นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางสาวภัทร์ ศาสตร์ขำ ผู้จัดการอาวุโส ส่วนงานพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ดำเนินรายการอภิปรายโดย รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย รองประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง และประธานหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร “ผู้นำสุขภาพ” กว่า 400 คน จาก 143 องค์กรทั่วประเทศ ในงาน Healthy Organization Day 2025 และพิธีมอบรางวัล Healthy Organization Award 2024 เพื่อให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสุขภาพ ควบคู่กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิด “องค์กรรักษ์สุขภาพ รักษ์โลก” ก้าวสู่เป้าหมายการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดโดย เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางกลอยตาได้แบ่งปันประสบการณ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของบางจากฯ ทีให้ความสำคัญกับสมดุลในทุก ๆ ด้าน เพื่อสร้างความยั่งยืน เพราะการที่จะทำให้ธุรกิจจะยั่งยืนได้ สุขภาพของพนักงานต้องแข็งแรง สร้างความยั่งยืนจากภายในสู่ภายนอก มีการส่งเสริมให้พนักงานออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ ลดและป้องกันโรค ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ดูแลพนักงานให้มีความสุข สุขภาพดี ส่งต่อความยั่งยืนไปสู่ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ตอบโจทย์วัฒนธรรมองค์กร พัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม
โดยได้ยกตัวอย่างโครงการต่างๆ ภายในองค์กร ที่เชิญชวนให้พนักงานดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม สำหรับโครงการที่เชิญชวนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมดูแลทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในช่วงเวลานี้ คือ การรณรงค์ “ไม่ทอดซ้ำ” ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สร้างความตระหนักด้านการบริโภค รณรงค์ไม่นำน้ำมันใช้แล้วที่เป็นอันตรายกับสุขภาพมาใช้ประกอบอาหารซ้ำ หลังจากนั้นก็เชิญชวนให้ “ทอดไม่ทิ้ง” ลงสู่พื้นที่สาธารณะ แม่น้ำลำคลอง ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม จากการกำจัดของเสียอย่างถูกวิธี โดยสามารถนำน้ำมันใช้แล้ว จากการปรุงอาหารไปจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันบางจากทั่วประเทศเกือบ 300 สถานี หรือเครือข่ายรับซื้อ โดยบริษัท บีเอสจีเอฟ เพื่อนำไปผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนจากธุรกิจการบินได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานแบบเดิม
นอกจากนี้ นางกลอยตา ในฐานะประธาน Carbon Markets Club ยังได้เชิญชวนให้องค์กรผู้เข้าร่วมงาน สมัครเป็นสมาชิก Carbon Markets Club โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาวะภูมิอากาศและดำเนินการเพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกัน