TTS 2017 มหกรรมรถบรรทุกนานาชาติ ยกระดับโลจิสติกส์ภูมิภาคอาเซียน

หลังสร้างปรากฏการณ์หน้าใหม่และประสบความสำเร็จจากการจัดงานมหกรรมแสดงรถบรรทุกเพื่อการขนส่งนานาชาติ ประเทศไทย หรือ Thailand International TRUCK SHOW 2015 เป็นใบเบิกทางให้บริษัท นิชิโอะ เร้นท์ ออล จำกัด และบริษัท พาราบ๊อกซ์ จำกัด ในฐานะผู้จัดงานได้เดินหน้าเต็มสูบกับการจัดงานมหกรรมแสดงรถบรรทุกเพื่อการขนส่งนานาชาติประเทศไทยครั้งที่ 2

0
580

หลังสร้างปรากฏการณ์หน้าใหม่และประสบความสำเร็จจากการจัดงานมหกรรมแสดงรถบรรทุกเพื่อการขนส่งนานาชาติ ประเทศไทย หรือ Thailand International TRUCK SHOW 2015  เป็นใบเบิกทางให้บริษัท นิชิโอะ เร้นท์ ออล จำกัด และบริษัท พาราบ๊อกซ์ จำกัด ในฐานะผู้จัดงานได้เดินหน้าเต็มสูบกับการจัดงานมหกรรมแสดงรถบรรทุกเพื่อการขนส่งนานาชาติประเทศไทยครั้งที่ 2 หรือ Thailand International TRUCK SHOW 2017 (TTS 2017) ซึ่งจะได้ฤกษ์เปิดหน้าม่านความยิ่งใหญ่ 8-10 มิ.ย.ศกนี้ ณ อาคาร 1-2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี

งาน Thailand International TRUCK SHOW (TTS) เป็นงานแสดงสินค้าด้านโลจิสติกส์ รถบรรทุก การขนส่งทางรถบรรทุก ตลอดถึงห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการขนส่ง ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการผู้จัดงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมากจากงาน TRUCK SHOW ในประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเครื่องมือช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมด้านการพัฒนาโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนโดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเติบโต ปีนี้จัดขึ้นหวังพุ่งชนแนวคิด“Move Forward with ASEAN Truck Logistics” คือการก้าวสู่ยุคใหม่ของการขนส่งทางรถบรรทุกของภูมิภาคอาเซียน ยกระดับโลจิสติกส์ของภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น

ก่อนหน้าที่งาน TTS 2017 จะเริ่มเปิดฉากความยิ่งใหญ่ท้าสายตาผู้เข้าร่วมชมงานได้ยลโฉมจริงนั้น Logistics Time ได้ส่องมุมมองต่อความสำคัญของการพัฒนาเครือข่ายระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน พร้อมจับพิกัดความพร้อมการจัดงาน ไฮไลท์ของการจัดกงาน ตลอดถึงความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้การจัดงานครั้งนี้สมบูรณ์แบบในทุกมิติผ่านบทสัมภาษณ์ของคณะกรรมการผู้จัดงาน ดังนี้

มร.คะซึโนริ ชิบะโมโต้

ย้ำ TTS 2017 เชื่อมโยงโอกาสการค้าการลงทุนไทย-อาเซียน 

ประเดิมจาก มร.คะซึโนริ  ชิบะโมโต้ ประธานคณะกรรมการจัดงานฯ ได้ฉายภาพและสะท้อนมุมมองต่อความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนว่า การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์โดยเฉพาะการขนส่งข้ามแดนระหว่างประเทศที่มีเชื่อมต่อกันทางถนนในภูมิภาคอาเซียนนี้ จะยังมีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งอานิสงส์ให้ภาคธุรกิจรถบรรทุกมีอัตราการเติบโตและขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งในอนาคตยังต้องพัฒนายิ่งขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาทางด้านขนส่งทางถนนของภูมิภาคอาเซียนนี้

“การเชื่อมต่อทางแผ่นดิน อีกทั้งการก่อสร้างเครือข่ายระบบโลจิสติกส์ของเมืองหลักๆในภูมิภาคนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญโดยตรงอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทุกๆประเทศ  ด้วยเหตุนี้ บทบาทของหน่วยงานภาครัฐทุกๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของกฎหมาย หรือการเตรียมความพร้อมด้านระบบต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้นักลงทุนล้วนมีความคาดหวังที่จะอยากให้ภาครัฐของทุกประเทศในภูมิภาคนี้มีแนวทางและการดำเนินงานที่จะช่วยเอื้ออำนวยให้นักลงทุนชาวต่างชาติ ทั้งจากยุโรป ญี่ปุ่น จีน และชาติอื่นๆ ให้สามารถเข้ามาร่วมลงทุนในภูมิภาคนี้ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการก่อสร้างถนนหนทาง หรือสะพาน และอื่นๆ ตลอดจน ขั้นตอนด้านศุลกากรเพื่อการนำเข้า-ส่งออก”

นอกจากนี้ มร.คะซึโนริ ระบุอีกว่าที่สำคัญเมื่อพิจารณาจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์แล้ว ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ส่งผลให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมากโดยเฉพาะจากญี่ปุ่น และด้วยความเกี่ยวเนื่องระหว่างระบบเศรษฐกิจของประเทศและภาคการขนส่ง ส่งผลให้การปรับปรุงและพัฒนาระบบการขนส่งทางรถบรรทุกเป็นปัจจัยสำคัญเร่งด่วน เพื่อช่วยยกระดับเศรษฐกิจภาพรวมของประชาชมอาเซียนให้ขยายตัวดียิ่งขึ้น ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ส่งผลให้เราเลือกไทยเป็นฐานการจัดงานมหกรรมรถบรรทุกนานาชาติ ประเทศไทยขึ้น เพื่อมุ่งหวังที่จะเป็นตัวกระตุ้นการยกระดับภาคการขนส่งของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น

เวทีกลางจับคู่ธุรกิจผู้ผลิต-ผู้ใช้รถบรรทุก

ส่วนมุมมองต่อความมั่นใจการจัดงานครั้งนี้ให้ประสบความสำเร็จนั้น มร.คะซึโนริ ระบุว่า มหกรรมรถบรรทุกนานาชาติ ประเทศไทย หรือ TTS 2017 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ถือเป็นงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับรถบรรทุกและการขนส่งโดยใช้รถบรรทุก ซึ่งมีรูปแบบและพื้นฐานเช่นเดียวกับการจัดงาน TRUCK SHOW ในประเทศญี่ปุ่น โดยภายในงานจะมีการจัดแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ของรถบรรทุก ตัวถังรถบรรทุก ส่วนประกอบ และอะไหล่ต่างๆ รวมถึงห่วงโซ่ธุรกิจเกี่ยวกับโลจิสติกส์ครบวงจร จึงถือได้ว่างานนี้เป็นแหล่งรวมทุกสิ่งที่เกี่ยวกับรถบรรทุก และเป็นเวทีเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ใช้รถบรรทุกให้ได้มาพบกัน

“ในฐานะที่เราเป็นบริษัทผู้จัดงานจากญี่ปุ่นที่มีเน็ตเวิร์คกับผู้ประกอบการรถบรรทุกญี่ปุ่น อีกทั้งสมาคมและองค์กรด้านโลจิสติกส์ของญี่ปุ่น ทำให้เราเชื่อมั่นว่าการจัดงาน TTS 2017 ครั้งนี้จะเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการของไทย ตลอดจนผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานแล้ว นำไปสู่ประโยชน์ทางการค้าการลงทุนต่างๆ โดยเห็นได้จากการได้รับความสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้อย่างเป็นทางการ อาทิ สำนักงานส่งเสริมการประชุมและจัดนิทรรศการ (TCEB), สหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน (ATF), กรมการขนส่งทางบก, สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน, สถาบันยานยนต์, JETRO Bangkok รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ด้วยความร่วมมือจากทางประเทศญี่ปุ่น อาทิ สถานฑูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย, JETRO, Japan Trucking Association, เป็นต้น ด้วยความร่วมมือนี้เหล่านี้เป็นแรงหนุนให้ผู้จัดงานมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะจัดงานให้มีความเป็นนานาชาติให้เกิดขึ้นในประเทศไทย” 

มร.ยูคิโอะ โอคุด

มั่นใจมีผู้ร่วมชมงานกว่าหมื่นคนตลอดระยะเวลา 3 วัน

ขณะที่มร.ยูคิโอะ โอคุดะ เลขาฯคณะกรรมการจัดงานฯ เปิดเผยถึงความพร้อมและการประชาสัมพันธ์งาน TTS 2017 ว่าเราทำทั้งการส่ง EDM, นิตยสาร วารสารต่างๆที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ การโฆษณาตามสื่อต่างๆ กลางแจ้ง รายการโทรทัศน์และอื่นๆ มากเท่าที่จะทำได้ อีกทั้งในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการญี่ปุ่นทั้งชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่มีความสนใจจะขยายธุรกิจในประเทศไทยเองก็เป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา โดยมีการกระจายข่าวสารของงานไปอย่างหลากหลาย ซึ่งไม่ได้มุ่งหวังแค่เพียงยอดตัวเลขผู้เข้าชมงาน แต่ต้องเป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจซื้อ และตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้เข้าร่วมจัดแสดงงานได้

 “ทางผู้จัดงานฯได้มีการลงนามความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์งานร่วมกับงาน INTERMAT ASEAN ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม การเจรจาธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง โดยได้จัดทำประตูทางเข้าพิเศษระหว่างอาคารจัดงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ร่วมงาน ยกระดับให้ทั้ง 2 งานครบวงจรมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะทำให้มีผู้เข้าร่วมชมงานรวมกว่า 10,000 คน ตลอดระยะเวลาจัดงาน 3 วัน”

เพื่อตอกย้ำให้งานเสมือนเป็นศูนย์กลางแห่งโลจิสติกส์แห่งอาเซียนอย่างแท้จริง มร.ยูคิโอะ แสดงทัศนะว่าทางคณะผู้จัดงานยังจัดให้มีกิจกรรม “สัปดาห์โลจิสติกส์ 2560” เกิดขึ้นภายในงาน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในด้านโลจิสติกส์ และการขนส่งทั้งจากในประเทศไทย, ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ซึ่งจะเป็นแหล่งองค์ความรู้ในเชิงทฤษฎีควบคู่ปฏิบัติในด้านโลจิสติกส์ อาทิ การจัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน อาทิ 2 องค์กรยักษ์โลจิสติกส์และซัพพายเชนได้บรรลุในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต (TLAPS) และสมาคมด้านการขนถ่ายสินค้าของประเทศญี่ปุ่น(MH) ในการจัดโครงการเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้กับบุคลากรในวิชาชีพ เป็นต้น

“อีกทั้งยังมีสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน หรือ ATF ที่มีคุณยู เจียรยืนยงพงศ์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นองค์กรอันเกิดจากความสำเร็จในการลงนามก่อตั้งของผู้แทนจากสมาคมเกี่ยวข้องกับรถบรรทุกการขนส่งและโลจิสติกส์ในอาเซียนในงานการจัดงาน TTS ครั้งแรกเมื่อปี 2558 โดยจะจัดงานประชุมสามัญประจำปีภายในงาน TTS 2017 นี้อีกด้วย ซึ่ง ATF จะเป็นองค์กรเอกชนที่มีบทบาทและเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กที่ดึงดูดผู้เข้าชมงานต่างชาติให้เข้ามาชมงานมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงถือได้ว่าเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้งานครั้งนี้มีความเป็นนานาชาติให้มากขึ้น” 

ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมโลจิสติกส์อาเซียน

อย่างไรก็ดี  มร.ยูคิโอะ ทิ้งท้ายว่าถึงเวลานี้ภาพรวมความคืบหน้าของการเตรียมงานมีความพร้อมแล้วประมาณ 80% ในส่วนผู้เข้าร่วมออกบูธแสดงสินค้าก็ได้มีการตอบรับเข้ามาแล้วหลากหลายบริษัท ทั้งผู้ผลิตรถบรรทุกและผู้แทนจำหน่ายหัวลากรถบรรทุก ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายตัวถังรถบรรทุก ชิ้นส่วนตัวถังรถบรรทุก ยาง ชิ้นส่วนสำหรับเทรเลอร์ อะไหล่ บริษัทขนส่ง ตัวแทนนำเข้าและส่งออกสินค้า ผู้ให้บริการส่งสินค้าด่วนพิเศษ เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทฮีโน่มอเตอร์เซลส์ (ประเทศไทย),เชฟรอน(ประเทศไทย), บางกอกโคมัตสุเซลส์, ออโต้ซาลอน, แอมเทค ลูบริแคนท์,ฟูจิตสึ(ประเทศไทย) 3 เอ็มประเทศไทย,อาร์ซีซี เอเชีย,บี เอ็น ซี แบตเตอรี่ (ประเทศไทย),มิชลิน อาร์โอเอช เป็นต้น

“ผู้จัดงานตั้งใจและมุ่งหวังจะยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนให้ดีขึ้น ในฐานะบริษัทผู้จัดงานญี่ปุ่น เราจึงพยายามนำจุดแข็งของเรา นั่นคือการรวบรวมเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่ ไม่ว่ากับผู้ประกอบการในธุรกิจรถบรรทุกญี่ปุ่น สมาคม และองค์กรด้านโลจิสติกส์ของญี่ปุ่นผ่านการจัดงาน TTS  เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการของไทย ตลอดจนผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานแล้ว นำไปสู่ประโยชน์ทางการค้าการลงทุนต่างๆ”  

“เรามั่นว่าผู้เข้าชมงานเองก็มีโอกาสในการมองหาสินค้าใหม่ๆ นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ แนวทางที่จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนได้ภายในงาน เกิดการเจรจาธุรกิจ ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ อีกทั้งยังสามารถเข้ารับร่วมฟังสัมมนา และการประชุมต่างๆ ในหัวข้อที่เป็นความรู้ใหม่ๆ ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ในอาเซียน เพื่อนำไปเป็นประโยชน์และต่อยอดธุรกิจของตัวเองให้เติบโตได้ในอนาคต”

ยุคการค้าการลงทุนบนเวทีอาเซียนหลังเปิดเออีซี TTS 2017 หรือมหกรรมรถบรรทุกเพื่อการขนส่งนานาชาติ ประเทศไทย ครั้งที่ 2 นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งสำคัญงานที่ช่วยตอกย้ำการเชื่อมโยงธุรกิจของภูมิภาคอาเซียนอย่าง “ไร้พรมแดน”ได้เป็นอย่างดี