หลังถูกหลายฝ่ายกดดันอย่างหนักในเรื่องของปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์สูง จนส่งผลต่อกำลังซื้อในภาคประชาชน โดยพุ่งเป้าไปที่บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในช่วงที่ผ่านมานั้น
ล่าสุดแหล่งข่าวในวงการธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมนำเสนอโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนที่มีเจ้าหนี้หลายรายต่อรัฐบาล โดยให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บสส. หรือ SAM) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้แทนเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ โดย ธปท.จะออกมาตรการรองรับ เพื่อให้เจ้าหนี้ทุกรายได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน และส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดี โดยกำหนดเงื่อนไขลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีเจ้าหนี้มากกว่า 1รายและมีมูลหนี้ไม่เกิน 2 ล้านบาท และเป็นหนี้เอ็นพีแอลที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี หรือมีอายุความเหลือต่ำกว่า 120 วัน
แนวทางปรับโครงสร้างหนี้ตามเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดไว้นี้ กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการต้องชำระในช่วงปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ 0-7% ตามความสามารถในการชำระหนี้ กำหนดระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน10 ปีหรืออายุไม่เกิน 65 ปี และยืนยันมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ไม่ได้เป็นการปรับลดเงินต้น ค่าธรรมเนียม เบี้ยปรับหรือดอกเบี้ยค้างรับต่างๆ แต่จะพักดอกเบี้ยค้างเดิมเบี้ยปรับเหล่านี้เอาไว้ก่อนแล้วรอยกให้เมื่อสิ้นสุดสัญญา ส่วนลูกนี้ที่มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้จะมีมาตรการช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เช่นในกรณีที่ บิดา มารดา คู่สมรสหรือบุตรเสียชีวิต หรือลูกหนี้มีบุตรใหม่ หรือถูกให้ออกจากงาน มีเหตุสุดวิสัยอื่นๆตามที่ ธปท.กำหนด
แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวทางการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของธปท.ข้างต้นถอดแบบมาจากหน่วยงาน “เนการาแบงก์”ของมาเลเซีย ที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้เอ็นพีแอลและหาทางออกให้กับผู้ที่มีปัญหาหนี้ท่วมจากเจ้าหนี้หลายรายจนยากจะแก้ไขปัญหาได้ แต่สิ่งที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อแนวทางการดำเนินการดังกล่าวก็คือ เงื่อนไขการดำเนินโครงการที่กำหนดให้จะต้องเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอลเท่านั้นจึงจะได้สิทธิ์น้ันกลายเป็นดาบ 2 คมที่อาจสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ลูกหนี้ทั่วไปที่อยู่ในระบบ แต่กลับไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ
“กลายเป็นว่าลูกหนี้เอ็นพีแอลจะได้รับการเกื้อหนุนจากภาครัฐและธปท.ให้เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำลังความสามารถ และยังถูกยกระดับให้เป็นลูกหนี้ช้ันดีหากกลับมาจ่ายเงินงวดแรกตามกำหนดทั้งยังได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ 0-7% เท่านั้น ขณะที่ลูกหนี้ท่ัวไปที่เป็นหนี้สถาบันการเงินกลับถูกขูดดอกเบี้ยสูงกว่า 20-30% ยิ่งเป็นส่วนของผู้ใช้บริการทางการเงินผ่านนาโนไฟแนนซ์ หรือพิโก ไฟแนนซ์น้ันยังถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงถึง 20-36% กลายเป็นว่าลูกหนี้ท่ัวไปที่ทำตัวดี ผ่อนดีตามกำหนด แต่กลับต้องถูกลงโทษ กรณีนี้จึงอาจเป็นดาบ 2 คมที่ทำให้ลูกหนี้ที่ดีอาจจงใจหยุดหรือระงับชำระหนี้เพื่อขอใช้สิทธิ์อย่างเท่าเทียมบ้าง””
นอกจากนี้ ความคาดหวังของ ธปท.ในการให้ บสส. เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้โดยเชื่อว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดหนี้ใหม่หรือสร้างหนี้ใหม่น้ัน ยังไม่มีหลักประกันใดๆว่าจะยับยั้งการก่อหนี้ใหม่ หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกหนี้เอ็นพีแอล และหาก บสส. ที่ไม่มีประสบการณ์ในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เอ็นพีแอลที่ไม่มีหลักประกันเข้ามาเป็นตัวกลางในการดำเนินการ ย่อมคาดหวังความสำเร็จได้ยากทั้งยังอาจถูกหลอกจากลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกันเอาได้อีก ที่สำคัญโครงการนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินโครงการกันแน่ระหว่าง ธปท. สมาคมธนาคารไทย หรือธนาคารเจ้าหนี้ หรือจะผลักภาระให้เป็นของ บสส. เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาจะต้องหาผู้รับผิดชอบความเสียหายที่จะเกิดข้ึน