“มนพร” เร่งรัด ทย.สิ้นปี 68 อาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินตรังเปิดให้บริการ

0
10

“มนพร” เร่งรัด ทย.ภายในสิ้นปี 68 อาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินตรังเปิดให้บริการพร้อมต่อเติมความยาวทางวิ่งรองรับสายการบินมากขึ้น ชี้ช่วยแก้ปัญหาตั๋วราคาแพง กำชับให้เตรียมความพร้อมให้บริการทุกด้านเน้นสะดวก ความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการรวดเร็วและเป็นระบบ รวมถึงศักยภาพบุคลากรมุ่งเน้นการให้บริการที่ดีและรวดเร็ว

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ท่าอากาศยานตรังให้แล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการประชาชนภายในสิ้นปี 2568 เพื่อรองรับการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่นของจังหวัดตรัง กำชับให้เตรียมความพร้อมให้บริการในทุกด้าน ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก มาตรการรักษาความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภายในท่าอากาศยานให้มีความรวดเร็วและเป็นระบบ รวมถึงศักยภาพของบุคลากรที่มุ่งเน้นการให้บริการที่ดีและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังสั่งการให้ ทย. เร่งประสานงานสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เข้ามาทดสอบระบบต่าง ๆ ให้มีความพร้อมใช้งาน ในส่วนของผู้โดยสารระหว่างประเทศให้เตรียมความพร้อมรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศในอนาคต โดยให้เตรียมความพร้อมด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร ด่านกักกันพื้นที่โรคและสัตว์ รวมถึงด่านตรวจสุขภาพของบุคคลทั่วไป

นางมนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังเร่งรัดให้ ทย. ดำเนินโครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน จากเดิม 45 x 2,100 เมตร เป็น 45 x 2,990 เมตร โดยคาดว่าการต่อเติมความยาวทางวิ่งของสนามบินจะสามารถช่วยแก้ปัญหาตั๋วเครื่องบินราคาแพงได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีความต้องการในการเดินทางสูง และสายการบินมีจำนวนเที่ยวบินที่จำกัด การต่อเติมความยาวทางวิ่งทำให้สายการบินสามารถใช้เครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ซึ่งสามารถเพิ่มความจุผู้โดยสาร และลดความแออัดของเที่ยวบินได้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีการแข่งขันในด้านราคาจากการที่มีสายการบินที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายและอาจส่งผลให้ราคาตั๋วลดลงในที่สุด

ด้าน นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ท่าอากาศยานตรัง ประสบปัญหาผู้รับจ้างไม่เข้าทำงานและไม่มีบุคลากรประจำที่หน่วยงาน เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง จึงทำให้การเปิดให้บริการช้ากว่าแผนที่กำหนด ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยานไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมา ทย. ดำเนินการหลังจากสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาตามสัญญา วันที่ 22 เมษายน 2567 โดยส่งหนังสือถึงผู้รับจ้าง ดังนี้ หนังสือแจ้งเรียกค่าปรับกรณีผิดสัญญาจ้าง หนังสือเร่งรัดให้ส่งงาน 2 งวดที่เหลือ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ งานทดสอบทุกระบบ ไฟถนน และงานคงเหลือทั้งหมด และหนังสือแจ้งสงวนสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้าง จากนั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ ผู้ควบคุมงาน ผู้รับจ้าง (ครั้งที่ 1) เพื่อติดตามเร่งรัดงานผู้รับจ้างรับทราบการสงวนสิทธิ์บอกเลิกสัญญา และยังประสงค์จะดำเนินการสร้างต่อ ต่อมาได้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ

ผู้ควบคุมงาน ผู้รับจ้าง (ครั้งที่ 2) แจ้งให้ผู้รับจ้างเร่งเข้าทำงาน ผู้รับจ้างยืนยันจะมีบุคลากรเข้างานภายในวันที่5 ตุลาคม 2567 หลังจากนั้นมีการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ ผู้ควบคุมงาน ผู้รับจ้าง (ครั้งที่ 3) เนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้าจึงแจ้งให้ผู้รับจ้างเร่งรัดเข้าทำงานอีกครั้ง มิฉะนั้นจะบอกเลิกสัญญาจ้าง ผู้รับจ้างแจ้งอยู่ระหว่างเจรจาหาแหล่งเงินทุนในวันที่ 16 ต.ค. 2567 เพื่อดำเนินการต่อ จนกระทั่งวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ในการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ ผู้ควบคุมงาน รายงานว่ายังไม่มีการเข้าทำงาน คณะกรรมการมีมติเห็นควรบอกเลิกสัญญาจ้างเพื่อให้ผู้รับจ้างรายใหม่ดำเนินการต่อ ขณะนี้ ทย. อยู่ระหว่างเสนอยกเลิกสัญญาจ้างตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการหาผู้รับจ้างรายใหม่มาดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จและเปิดใช้งาน

อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวเสริมว่า เมื่ออาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ท่าอากาศยานตรังเปิดให้บริการจะสามารถรองรับผู้โดยสาร 1,200 คน/ชั่วโมง หรือ 3.4 ล้านคน/ปี ความยาวทางวิ่ง 45 x 2,100 เมตร ลานจอดอากาศยานสามารถรองรับอากาศยานแบบ B737/A320 ได้พร้อมกัน 14 ลำ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ลานจอดรถยนต์กลางแจ้งสามารถรองรับรถยนต์ได้ 1,000 คัน สะพานเทียบเครื่องบิน จำนวน 2 ชุด ลิฟต์โดยสารจำนวน 11 ชุด และบันไดเลื่อนจำจวน 6 ชุด คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568 นี้ ส่วนโครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน จากเดิม 45 x 2,100 เมตร เป็น 45 x 2,990 เมตร ปัจจุบันความคืบหน้าการก่อสร้าง ณ กันยายน 2567 คืบหน้า 35.97% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2569