กระทรวงคมนาคม เปิด “ศูนย์อำนวยการร่วมกระทรวงคมนาคม” เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวก ปลอดภัยในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค วันที่ 27 ตุลาคม 2567
นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เปิดเผยว่า ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนกระทรวงคมนาคม ร่วมการประชุมคณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและการจราจร งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ณ กระทรวงกลาโหม โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแผนถวายความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจรในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชมหาวรวิหาร และขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม ดังนี้
1. กรมเจ้าท่า (จท.) เตรียมการถวายความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจรทางน้ำ โดยสนับสนุนการจัดเรือตรวจการณ์ตามหมายและเส้นทางเสด็จฯ และการกักผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 ขึ้นไป
2. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เตรียมการรักษาความปลอดภัยและการจราจรทางถนน และอำนวยความสะดวกประชาชนที่เดินทางมาร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ งานพระราชพิธีฯ จนเสร็จสิ้นภารกิจ
3. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดขบวนรถไฟสำหรับให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เดินทางมาร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ งานพระราชพิธีฯ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ดังนี้ สายเหนือ เส้นทางลพบุรี – สามเสน – ลพบุรี สายใต้ เส้นทางนครปฐม – ธนบุรี – นครปฐม เส้นทางราชบุรี – ธนบุรี – ราชบุรี และเส้นทางกาญจนบุรี – ธนบุรี – กาญจนบุรี สายตะวันออก เส้นทางปราจีนบุรี – หัวลำโพง – ปราจีนบุรี และเส้นทางฉะเชิงเทรา – หัวลำโพง – ฉะเชิงเทรา
4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารเฉพาะกิจให้บริการรับ – ส่งประชาชนที่เดินทางมาร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ จำนวน 2 เส้นทาง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ได้แก่ 1) สถานีรถไฟสามเสน – ใต้สะพานพระราม 8 และศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย และ 2) สถานีรถไฟหัวลำโพง – ลาน 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และลานปรีดีพนมยงค์ มธ.
5. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยกเว้นค่าผ่านทางสำหรับรถบัสที่รับ – ส่งประชาชนเดินทางมาร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ งานพระราชพิธีฯ
ทั้งนี้ เพื่อให้งานพระราชพิธีฯ ดำเนินการไปได้อย่างเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชนที่เข้าร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมกระทรวงคมนาคม โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ มีศูนย์ประสานงานและปฏิบัติการ ณ ห้องราชดำเนินกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ และมอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเพิ่มเติม ดังนี้
1) จท. ขบ. รฟท. กทพ. และ ขสมก. มอบหมายผู้แทนหน่วยงานมาประจำศูนย์ฯ โดย ขบ. ประสานจังหวัดเกี่ยวกับรายละเอียดรถบัสที่จะขนส่งประชาชนมาร่วมงาน และให้ตรวจสภาพความพร้อมและความปลอดภัยของรถบัสดังกล่าวก่อนออกเดินทาง รวมทั้งติดตามรถบัสด้วยระบบ GPS ตั้งแต่เริ่มเดินทางจนสิ้นสุดภารกิจ
2) ขบ. และ รฟท. ประสาน ขสมก. เพื่อแจ้งจำนวนประชาชนที่มาร่วมงานโดยรถบัสและรถไฟ พร้อมจุดรับ – ส่งประชาชน เพื่อ ขสมก. จัดเตรียมรถรองรับประชาชนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ให้ ขบ. ประสาน กทพ. แจ้งจำนวนรถบัสที่จะใช้ทางพิเศษ เพื่อ กทพ. ดำเนินการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ
3) จท. รายงานสถานการณ์ผักตบชวาเหนือสะพานพระราม 7 ขึ้นไป และการดำเนินการในวันที่ 26 ตุลาคม 2567
นอกจากนี้ ให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่รายงานสถานการณ์หน้างานต่อศูนย์ฯ อย่างต่อเนื่อง และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคมประสาน ขบ. ขอสัญญาณเชื่อมต่อกับระบบ GPS และเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับปฏิบัติภารกิจประจำศูนย์ฯ ในการติดตามการจราจรขนส่งทางบก เพื่ออำนวยความสะดวก ความปลอดภัยให้ประชาชนที่เดินทางมาร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ
สำหรับประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชม.) ได้แก่ ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม โทร. 1356 จท. โทร. 1199 ขบ. โทร. 1584 รฟท. โทร. 1690 ขสมก. โทร. 1348 และ กทพ. โทร. 1543