ทช.ก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง จ.สตูล คืบหน้าแล้วกว่า 92%คาดแล้วเสร็จปลายปี 67

0
311

กรมทางหลวงชนบท(ทช.)ก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง จ.สตูล งบประมาณทั้งสิ้น 433.190 ล้านบาท คืบหน้าแล้วกว่า 92% หวังเชื่อมโครงข่ายคมนาคมจากเกาะสู่แผ่นดินใหญ่ให้สะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน คาดแล้วเสร็จปลายปี 67

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่าหลังจากที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับพระราชทานพระราชานุมัติจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 92 อยู่ระหว่างติดตั้งสิ่งอำนวยความปลอดภัย งานป้ายจราจร เส้นจราจร และไฟฟ้าแสงสว่าง คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2567

โครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีจุดเริ่มต้นจากแยก ทล.406 บริเวณ กม.ที่ 93+900 ด้านขวาทาง ตรงเข้าสู่ท่าเทียบเรือประมงเอกชนริมคลองตำมะลัง จากนั้นสะพานจะข้ามไปยังฝั่งบ้านตำมะลังเหนือ หมู่ที่ 2 ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ไปสิ้นสุดที่บริเวณถนนสาธารณะของหมู่บ้าน โดยก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเชื่อมระหว่างเกาะตำมะลัง และแผ่นดินจังหวัดสตูล ตั้งแต่ กม.ที่ 0+690.500 ถึง กม.ที่ 1+491.500 ความยาว 801 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมทางเท้า และถนนคอนกรีตเสริมเหล็กต่อเชื่อมฝั่งแผ่นดิน ตั้งแต่ กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 0+690.500 ระยะทาง 690 เมตร  และถนนคอนกรีตเสริมเหล็กต่อเชื่อมสะพานฝั่งเกาะตำมะลัง ตั้งแต่ กม.ที่ 1+491.500 ถึง กม.ที่ 2+750 ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร พร้อมทั้งก่อสร้างลานจอดรถที่สามารถรองรับรถยนต์ได้มากถึง 80 คัน และรถจักรยานยนต์กว่า 120 คัน รวมถึงก่อสร้างบันไดทางลาดขึ้นลงสะพาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินข้ามคลองตำมะลังได้อีกด้วย โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 433.190 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างสะพานดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการลดระยะเวลาในการเดินทาง และค่าใช้จ่าย ที่แต่เดิมประชาชนต้องสัญจรด้วยเรือข้ามฟาก ทำให้เกิดความไม่สะดวกสบาย ไม่ปลอดภัย และล่าช้า โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ อีกทั้งยังมีพื้นที่จอดรถรองรับเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับประชาชน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจในการขนส่งสินค้าทางการเกษตร และสินค้าประมงของประชาชนได้อย่างยั่งยืน