“นกแอร์” จ้างที่ปรึกษาทำแผนฟื้นฟูแก้ขาดทุน คาด 3 เดือน สรุป ตีปีกลุยจีบต่างชาติร่วมทุน ขณะที่ “บินไทย” กุมขมับหลังคนร.สั่งทำแผนเพิ่มรายได้หลัง 2เดือนแรกหลุดเป้า
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย. พอใจกับแผนการลดรายจ่ายตามแผนปฏิรูปของบริษัท โดยช่วง 2 เดือนแรก ม.ค.-ก.พ.ปี 2560 ลดรายจ่ายได้ตามเป้า แต่ให้กลับไปปรับปรุงแผนการเพิ่มรายได้ใหม่เหตุยังต่ำกว่าเป้าหมาย แม้ว่าอัตราบรรทุกจะเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำระบบบริหารรายได้แบบใหม่มาใช้ประกอบในการสํารองที่นั่งทำให้ในช่วง2 เดือนปีนี้ ส่งผลให้การบินไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น1,000ล้านบาท
ขณะที่ร.อ.มนตรี จำเรียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวถึง แผนปฏิรูปของการบินไทยว่า ปัจจุบันอยู่ในตอนขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนที่ 3 การเติบโตอย่างยั่งยืนมีแผนที่จะต้องดำเนินการในปีนี้ 22 โครงการ ซึ่งจะต้องดำเนินการภายใต้ “ไทยกรุ๊ป” ที่จะมีการเชื่อมโยงการบริหารจัดการ 3 สายการคือ การบินไทย, ไทยสมายล์บริษัทในเครือ และนกแอร์บริษัทลูกเข้าด้วยกัน เบื้องต้นการบินไทยจะเป็นสายการพรีเมี่ยมที่บินระหว่างภูมิภาคและระหว่างประเทศ ส่วนไทยสมายล์จะต้องเป็นสายการบินฟูลเซอร์วิซในเส้นทางบินภายในประเทศและอินโดไชน่า ขณะที่นกแอร์จะเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่เน้นบินระยะสั้นในประเทศ แต่ในอนาคตจะต้องเปิดเส้นทางบินเพิ่มในเมืองรองในประเทศอินโดจีนและกลุ่มประเทศลุมแมน้ําโขง เช่น อินเดีย จีนตอนใต้ เป็นต้น
“อนาคตทั้ง 3 สายการบินต้องเป็นเครือข่ายการบิน ส่งต่อผู้โดยสารบินระยะไกล กลาง ใกล้ให้แก่กัน เพื่อขยายโครงการการบินและจุดบินระหว่างกัน ซึ่งหากทำได้ไทยกรุ๊ปจพแข็งแกร่งมาก เบื้องต้นมีแนวคิดที่ทำให้ 3 สายการบินเป็นสายการบินสัญชาติไทย ที่มีการบริหารจัดการร่วมกันทั้งเสน้ทางการบิน โครงข่ายการบิน รวมไปถึง การใช้ ทรัพยากรหลายๆ ด้าน ร่วมกัน เช่น การทำการตลาด การบริการลูกค้าภาคพื้น บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การบริการซ่อมบํารุงอากาศยานเป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการต้นทุน โดยปลายเดือนเม.ย. ทั้ง 3 สายการบินจะมีการประชุมเพื่อจัดทำแผนการบริหารจัดการร่วมกัน”
นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี หนึ่งในคณะกรรมการนกแอร์กล่าวว่า การบินไทยจะต้องระมัดระวังการเข้าไปบริหารจัดการนกแอร์ เพราะนกแอร์เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอำนาจในการบริหารจัดการแยกออกจากกัน และการบินไทยถืออหุ้นเพียง 39% เท่านั้น แต่ยอมรับว่าในอนาคตการบินไทยจะเข้าร่วมพัฒนาธุรกิจกับนกแอร์มากขึ้น อาทิ การกำหนดนโยบายร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนเส้นทาง การวางแผนโครงข่ายการบินร่วมกัน
“ขณะนี้นกแอร์มีปัญหาขาดทุนจากปัญหาต้นทุนสูง ทำให้ขณะนี้เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาให้เข้ามาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่าจะทำเสร็จภายใน 3 เดือน เน้นการเร่งแก้ไขปัญหาใหญ่ 2เรื่อง คือการบริหารจัดการสภาพคล่อง เรื่องของเงินกองทุน,การเพิ่มทุน และการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งกำลังมีปัญหาค่าใช้จ่ายสูงจากข้อผูกพันในสัญญาที่นกแอร์ทำไว้กับคู่สัญญา หลายๆด้าน เช่น ด้านการซ่อม การบริการจัดการ การบริการบิน การบริการภาคพื้น ซึ่งจะต้องเร่งโดยเร็ว”
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาเงินกองทุน นกแอร์อาจจะต้องเจรจาหาพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมทุน โดยขณะนี้เจรจาไปแล้ว 3-4 ราย ทั้งที่เป็นสายการบิน และไม่ใช่ธุรกิจสายการบิน แต่ยังสำเร็จ รวมทั้งจะต้องเร่งหาสายการบินพัธมิตรเพื่อทำโค้ดแชร์ร่วมกันให้มากขึ้นด้วย เช่น ไห่หนานแอร์ไลน์ และสปริงแอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการยินต้นทุนต่ำของจีน