กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และปลอดภัย ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้เกิดการเจริญเติบโต และส่งเสริมความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยประเทศไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบด้านการคมนาคมทางอากาศเป็นอย่างมาก เพราะอยู่ใจกลางของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีศักยภาพที่แข็งแกร่ง สามารถส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของโลก เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตามนโยบายของรัฐบาล
ปัจจุบันด้วยความสะดวกสบายของการเดินทางในเส้นทางการบินที่หลากหลาย รัฐบาลมีแผนจะพัฒนาท่าอากาศยานของไทย ให้ติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ภายใน 1 ปี และติดอันดับ 1 ใน 20 ภายใน 5 ปี รวมทั้งจะพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี ควบคู่ไปกับการขยายอาคารคลังสินค้า ให้รองรับปริมาณสินค้าได้กว่า 3.5 ล้านตันต่อปี โดยอาศัยศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีพรมแดนติดกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน
กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Transportation) ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองหลักในการส่งเสริมนโยบายดังกล่าว โดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางของประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อเชื่อมโยงสนามบินกับโครงข่ายการเดินทางทั่วประเทศและเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งจะต่อยอดความร่วมมือกับสายการบินต่าง ๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรม และพัฒนาสายการบินไทย ปรับปรุงเส้นทาง ตารางการบิน ให้เหมาะสมกับจำนวน และประเภทเครื่องบิน ปรับปรุงบัตรโดยสารและการบริการ ตลอดจนส่งเสริมบุคลากรให้เพียงพอพร้อมให้บริการ
สำหรับแผนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคน ขณะนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ได้เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ทสภ. (SAT-1) เพิ่มปริมาณรองรับผู้โดยสารเป็น 60 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งเตรียมเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 ในปลายปี 2567 นี้ ซึ่งจะสามารถรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวต่อชั่วโมง และมีแผนก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสาร โดยก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางทิศใต้ ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น แผนก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวต่อชั่วโมง ควบคู่ไปกับการพัฒนาท่าอากาศยานเดิม ทั้งท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ตลอดจนศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน และท่าอากาศยานล้านนา เพื่อให้รองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น
ด้านการแก้ปัญหาความแออัดภายในสนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนนั้น รัฐบาลมีแผนยกระดับสนามบินทั่วประเทศ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ให้มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน 6 ท่าอากาศยานของ AOT ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพิ่มประสิทธิภาพงานบริการ และบรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน เช่น 1.ระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง 2.ระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ 3.ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ 4.ระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร และ 5.ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติขาออก (Auto Channel) สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) เป็นต้น
การขับเคลื่อนในทุกมิติตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อมุ่งสู่การเป็นฮับการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Aviation Hub) ทั้งในด้านการบริหารจัดการ กำกับดูแล และการให้บริการอย่างครบถ้วน รอบด้าน ยกระดับศักยภาพภาคการบินของประเทศไทย ให้เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูด สำหรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลก ส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างรายได้ฟื้นฟูพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน