เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายภิเษก ชยาภิวุฒ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง สายบำรุงรักษา นายวุฒิไกร วะชังเงิน หัวหน้าสำนักงานบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย และนางประภาภรณ์ คชรินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการสถานีรถไฟฟ้า บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด พร้อมเจ้าหน้าที่ ขร. ทดม. รฟท. และ รฟฟท. ลงพื้นที่สำรวจการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ท่าอากาศยานดอนเมือง และสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สถานีดอนเมือง เพื่อร่วมกันปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทางทางอากาศและทางรางให้มีความสะดวกและประหยัดเวลาในการเดินทางแก่ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางจากสนามบินดอนเมืองเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครได้ดียิ่งขึ้น
นายอธิภูฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นไปตามข้อสั่งการของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้มีการบูรณาการคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางกับท่าอากาศยานดอนเมือง จึงถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศและขนส่งทางรางในการปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่ส่งเสริมการเดินทางขนส่งสาธารณะแบบไร้รอยต่อ โดยร่วมกันสำรวจเส้นทางและระบบป้ายบอกทาง ป้ายสัญลักษณ์ และป้ายแสดงข้อมูลการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานดอนเมือง และสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สถานีดอนเมือง พร้อมหารือและกำหนดแนวทางการปรับปรุงระบบป้ายฯ ร่วมกับท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง
ซึ่งจากการลงพื้นที่ พบว่า ปัจจุบันอาคารผู้โดยสารภายในประเทศมีการจัดทำป้ายบอกทาง ป้ายสัญลักษณ์ ป้ายแสดงข้อมูลการเชื่อมต่อฯ และตารางเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้ว แต่ยังมีบางจุด เช่น ทางเลี้ยวและทางเดินบางชั้น ที่ป้ายมีขนาดเล็กและติดตั้งในตำแหน่งที่ผู้โดยสารมองเห็นได้ไม่ชัดเจน รวมทั้งหมดข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ยังไม่แก้ไขให้เป็นปัจจุบัน ดังนั้น ทดม. จะพิจารณาติดตั้งป้ายเพิ่มเติม และประสานกับ รฟฟท. ปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์ให้เป็นแบบเดียวกัน และปรับปรุงข้อมูลบนป้ายแสดงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน โดยจะดำเนินการโดยเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร และเป็นทางเลือกในการเดินทางเข้าใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครอีกทางหนึ่ง นอกจาก รถชัตเติ้ลบัส รถเมล์ รถแท็กซี่ และรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรและลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก
นายอธิภูฯ เปิดเผยผลการหารือถึงข้อสรุปในเบื้องต้นว่า ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่าควรเร่งปรับปรุงระบบป้ายบอกทางฯ ดังนี้
1. จัดทำป้ายบอกทาง ป้ายสัญลักษณ์ และป้ายแสดงข้อมูลการเชื่อมต่อฯ ในส่วนของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ บริเวณจุดทางเลี้ยวบางจุดที่ยังไม่มีป้าย และปรับปรุงป้ายแผนผังอาคาร ให้แสดงข้อมูลของรถไฟฟ้าสายสีแดงและข้อมูลของรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
2. จัดทำป้ายบอกทาง ป้ายสัญลักษณ์ และป้ายแสดงข้อมูลการเชื่อมต่อฯ ในส่วนของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และป้ายแผนผังอาคาร ให้แสดงข้อมูลของรถไฟฟ้าสายสีแดงและข้อมูลของรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง ตั้งแต่บริเวณสายพานรับสัมภาระ ทางออกผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 1 ซึ่งเป็นทางออกหลักสำหรับผู้โดยสารชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางด้วยสายการบิน ทางเดินภายในอาคาร ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารบริเวณชั้น 1 – ชั้น 3 และบริเวณเคาเตอร์ประชาสัมพันธ์
3. เพิ่มป้ายสัญลักษณ์รถไฟฟ้าสายสีแดง ป้ายบอกทาง พร้อมระยะทางถึงสถานีรถไฟฟ้าดอนเมือง พร้อมป้ายแสดงโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลพร้อมจุดเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะและสถานที่สำคัญ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการเดินทางของผู้โดยสารที่เหมาะสมที่สุด
นายอธิภูฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ภายหลังเปิดให้บริการนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2567 มียอดผู้โดยสารในวันทำงานเฉลี่ย 30,372 คน-เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.16 และมียอดผู้โดยสารในวันหยุดเฉลี่ย 27,561 คน-เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.60 ซึ่งจากการลงพื้นที่ พบว่า ผู้โดยสารสนามบินดอนเมืองนิยมเดินทางเข้าเมืองกรุงเทพมหานคร ด้วยรถชัตเติ้ลบัส รถเมล์ และรถแท็กซี่ซึ่งหากในช่วงเวลาเร่งด่วน ที่มีเที่ยวบินขาเข้าเป็นจำนวนมาก ปริมาณรถชัตเติ้ลบัส รถเมล์ และรถแท็กซี่จะไม่เพียงพอต่อผู้ต้องการใช้บริการ จึงเสนอให้ ทดม. พิจารณาเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารรับรู้และเลือกเดินทางเข้าเมืองด้วยรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงมากขึ้น โดยเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ ทั้งทาง PA สื่อสังคมออนไลน์ เช่น TikTok Facebook และป้ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งทาง ทดม. รับไปดำเนินการโดยเร็ว
กรมการขนส่งทางราง จะเร่งประสานติดตามการดำเนินงานข้างต้น เพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างการเดินทางทางอากาศและการเดินทางทางรางเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัดเลาในการเดินทาง รวมทั้งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางของผู้โดยสารทุกกลุ่ม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบการการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางเป็นโครงข่ายหลักในการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อไป