ซูเปอร์โพล เผย “เงินดิจิทัล” ประชาชนยังเชื่อมั่นและยังรอคอย

0
38

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลการศึกษาเรื่อง เงินดิจิทัลที่ประชาชนเชื่อมั่นและรอคอย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,120 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา พบในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย คือ รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มีความเชื่อมั่นร้อยละ 71.3 และกลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 15,000 – 35,000 บาทต่อเดือน มีความเชื่อมั่นร้อยละ 71.6 ในขณะที่กลุ่มรายได้เกิน 35,000 บาทขึ้นไป มีความเชื่อมั่นร้อยละ 57.5 ว่าการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาคของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า กลุ่มคนในภาคเหนือ มีความเชื่อมั่นสูงสุด คือ ร้อยละ 75.4 รองลงมา คือ กลุ่มคนในภาคกลาง มีความเชื่อมั่นร้อยละ 74.2 กลุ่มคนในภาคอีสาน มีความเชื่อมั่นร้อยละ 73.6 กลุ่มคนกรุงเทพมหานคร มีความเชื่อมั่นร้อยละ 68.7 และกลุ่มคนในภาคใต้ มีความเชื่อมั่นร้อยละ 65.8 ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มคนอายุน้อย คือ ต่ำกว่า 20 ปี เกินครึ่ง คือ ร้อยละ 54.1 และกลุ่มคนอายุระหว่าง 20 – 29 ปี ร้อยละ 47.2 ระบุควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไร เพราะรออยู่ และที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนมาก หรือร้อยละ 42.5 ที่ระบุ ควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไร เพราะรออยู่เช่นกัน ในขณะที่ กลุ่มคนอายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 31.7 และกลุ่มคนอายุ 50 – 59 ปี มีสัดส่วนน้อยที่สุดคือร้อยละ 26.7 ที่ระบุ ควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไร เพราะรออยู่ อย่างไรก็ตาม ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มคนอายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 43.8 และกลุ่มคนอายุ 50 – 59 ปี ร้อยละ 42.2 ไม่มีความเห็น

นอกจากนี้ เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาค พบว่า กลุ่มคนในภาคกลางส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 และกลุ่มคนในภาคใต้จำนวนมากหรือร้อยละ 43.9 ระบุรออยู่ ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในขณะที่ กลุ่มคนในภาคเหนือเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.8 และกลุ่มคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 32.6 ระบุ รออยู่ ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มคนในภาคอีสาน มีจำนวนน้อยที่สุดหรือร้อยละ 26.4 ที่ระบุ รออยู่ ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่กลุ่มคนในภาคอีสานมีสัดส่วนมากที่สุดคือร้อยละ 44.5 และกลุ่มคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 41.6 ที่ไม่มีความเห็น

ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล ระบุว่า โพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นระดับสูงว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรายได้น้อยต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และในกลุ่มรายได้ 15,000 ถึง 35,000 บาทต่อเดือน และในกลุ่มคนรุ่นใหม่กับกลุ่มคนเกษียณอายุคืออายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป น่าจะสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลโดนใจและตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนรายได้น้อยและคนในช่วงอายุน้อยของคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนสูงวัยที่สะท้อนถึงความต้องการให้นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเป็นจริงขึ้นมาเพราะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ต้องการใช้เงินและเชื่อมั่นว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คือ ข้อห่วงใยของผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลที่เคยทำวิจัย พบว่า ความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยของประชาชนคนไทยบนโลกออนไลน์อยู่ในสภาวะวิกฤต เพราะข้อมูลของประชาชนคนไทยเกือบทั้งประเทศกำลังตกอยู่ในมือขบวนการมิจฉาชีพ ทั้งชื่อ นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทร เลขที่บัญชี สถานะทางการเงิน และล่าสุดข้อมูลเชิงทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนกำลังอยู่ในมือของขบวนการผู้เชี่ยวชาญทางไซเบอร์ทั้งกลุ่มขาว กลุ่มเทา ๆ และกลุ่มดำ อย่างน่าวิตกกังวลมาก ที่รัฐบาลควรใส่ใจในการเตรียมแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชน

“ทางออกคือ ยกระดับนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลเป็นวาระแห่งชาติ เร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไซเบอร์และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลความปลอดภัยทางไซเบอร์ชั้นสูงรองรับการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลให้ทุกคนปลอดภัยไม่ซ้ำรอยคดีจำนำข้าว ลดแรงเสียดทานจากกลุ่มต่อต้าน ผลที่ตามมาคือ รัฐบาลชุดปัจจุบันของ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จะเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่สามารถเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลชั้นสูง อาทิ เทคโนโลยีบล็อกเชน หรือทางเลือกอื่นของบริการเทคโนโลยีความปลอดภัยสูงทางไซเบอร์ที่ได้มาตรฐานสากลมีธรรมาภิบาล เช่น AWS ที่มีโทคโนโลยีดิจิทัลเป็นไปตามกรอบความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Framework) และเทคโนโลยีดิจิทัลตามมาตรฐานของ NIST สหรัฐอเมริกา ISO มาตรฐานโลกและกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นด้านการจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากและระดับประเทศ รักษาความมั่นคงของชาติ สถาบันหลักของชาติ และความปลอดภัยของประชาชนไปในคราวเดียวกันนี้ได้สำเร็จตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล” ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล กล่าว