“สุริยะ”สั่ง ทอท.เตรียมมาตรการป้องกันภัย-ซ้อมปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินทั้ง 6 สนามบิน พร้อมอุปกรณ์-บุคลากรให้มีความพร้อมตอบสนองต่อทุกเหตุการณ์หลังเกิดเหตุการณ์เครื่องบินชนกันบนรันเวย์ประเทศญี่ปุ่น ยันฝึกซ้อมเข้มประจำทุกปี มั่นใจการให้บริการสะดวก-ปลอดภัย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าจากกรณีเครื่องบินสายการบิน เจแปนแอร์ไลน์ (JAL) เฉี่ยวชนกับเครื่องบินของหน่วยยามชายฝั่งญี่ปุ่น เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้เครื่องบินบนทางวิ่ง (รันเวย์) ณ สนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 นั้น ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว อาจส่งผลให้ผู้ใช้บริการเกิดความกังวลในการใช้บริการสนามบิน ดังนั้น ด้วยความห่วงใยต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย จึงได้สั่งการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไปดำเนินการศึกษาข้อมูล และเตรียมมาตรการป้องกันภัย เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทย
ทั้งนี้ ทอท. มีการบริหารสนามบินทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ได้มีแผนฉุกเฉินของสนามบินอยู่แล้ว ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยในแผนฯ ได้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบและแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งช่องทางติดต่อสื่อสารเพื่อลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น ครอบคลุมเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวกับอากาศยานอุบัติเหตุ ทั้งภายในและภายนอกเขตสนามบิน การก่อวินาศกรรม เหตุการณ์เกี่ยวกับสินค้าอันตราย เพลิงไหม้อาคาร ภัยธรรมชาติ รวมทั้งเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขด้วย
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ได้ดำเนินการฝึกซ้อมการปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินของสนามบินอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นการทบทวนประสิทธิภาพของแผนที่ใช้สำหรับตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิด โดยในแผนฉุกเฉิน จะกำหนด “ระยะเวลาตอบสนอง” ตั้งแต่หน่วยบริการดับเพลิงอากาศยานได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน จนกระทั่งถึงเวลาที่รถดับเพลิงอากาศยานคันแรก หรือกลุ่มแรกถึงจุดที่จะปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย และสามารถฉีดสารละลายโฟมในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราฉีดที่กำหนด
ส่วนในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินของอากาศยานบนทางวิ่งนั้น รัฐกำหนดให้เวลาบนทางวิ่งที่ใช้งานภายใต้สภาพทัศนวิสัยและสภาพพื้นผิวที่เหมาะสม ต้องไม่เกิน 2 นาที และขณะที่เวลาตอบสนอง บนพื้นที่เคลื่อนไหวนอกเหนือจากทางวิ่ง (ทางขับ ลานจอด) ต้องไม่เกิน 3 นาที ซึ่งทุกสนามบินจะต้องทำการฝึกซ้อมเพื่อให้ได้เวลาตามที่รัฐกำหนด และรายงานให้สายงานมาตรฐานท่าอากาศยานและการบินทราบทุกเดือน เพื่อให้การดับเพลิงและกู้ภัยเป็นไปตามที่รัฐฯกำหนด
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ด้านความพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ทอท. มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐานของรัฐ รวมทั้งมีจัดให้มีรถดับเพลิง อุปกรณ์ สารดับเพลิง ที่มีจำนวนและคุณสมบัติที่เหมาะสมกับระดับชั้นของการดับเพลิงและกู้ภัยด้วย นอกจากนี้ ยังมีระบบสื่อสารและการแจ้งเตือนเพื่อใช้สื่อสารเฉพาะระหว่างหอควบคุมการจราจรทางอากาศและสถานีดับเพลิง และระหว่างรถดับเพลิง รถกู้ภัย รวมถึงกับนักบินเมื่อเกิดเหตุด้วย โดยในการฝึกซ้อม ตามแผนฉุกเฉิน ทอท. ได้มีการจัดการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินแบบเต็มรูปแบบ (Full-scale exercise) ทุก ๆ 2 ปี และฝึกซ้อมบางส่วน (Partial emergency exercise) ในปีที่ไม่ได้มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบ รวมถึงมีการฝึกซ้อมบนโต๊ะจำลองสถานการณ์ (Tabletop exercise) อย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือน ยกเว้นช่วงเวลาที่มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ ในการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินและการเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง จะมีผู้ประเมินจากผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งจากภายในและภายนอก ทอท. เพื่อให้ข้อคิดเห็นในการปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ข้อบกพร่องใด ๆ ที่ตรวจพบระหว่างการซ้อมแผนฉุกเฉินโดยเฉพาะแบบเต็มรูปแบบ จะได้รับการแก้ไขปรับปรุง และให้มั่นใจว่าหน่วยงานและองค์ประกอบต่าง ๆ ของแผนฉุกเฉินของสนามบินของ ทอท. มีความพร้อมและเพียงพอในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า นอกจากการฝึกซ้อมตามแผนฉุกเฉินแล้ว ทอท. ยังได้มีการฝึกซ้อมแผนเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากที่เหตุฉุกเฉินได้บรรเทาแล้วทั้ง 6 สนามบินอีกด้วย
นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของสนามบินที่ผู้โดยสารเดินทางเข้าออกเป็นจำนวนมาก อาทิ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์และบุคลากร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลือและกู้ภัยอากาศยานที่ประสบอุบัติเหตุ ประกอบด้วย รถดับเพลิงอากาศยานและอุปกรณ์ช่วยเหลือและกู้ภัยที่มีขีดความสามารถ ในการดับเพลิงอากาศยานที่มีขนาดความยาวและความกว้างที่สุดของอากาศยานโดยสารที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เช่น B747-800, A380 โดย ปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีสถานีดับเพลิงอากาศยานจำนวน 2 สถานี แต่ละสถานีมีรถดับเพลิงอากาศยานจำนวน 5 คัน ซึ่งสอดคล้องตามมาตรฐานสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และมีการฝึกซ้อมเวลาตอบสนอง (Response time) เป็นประจำทุกเดือน เพื่อทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์และบุคลากรในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน