การรถไฟฯ เปิดไทม์ไลน์การปรับปรุง ลิฟท์ บันไดเลื่อน โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยจะทยอยกลับมาเปิดใช้งานได้เร็วกว่ากำหนด ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ เป็นต้นไป
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการปรับปรุงลิฟท์ และบันไดเลื่อน โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้สั่งการให้เร่งปรับปรุงเพื่อกลับมาเปิดให้บริการแก่ผู้โดยสารโดยเร็วที่สุด ทำให้ขณะนี้สามารถปรับปรุงแล้วเสร็จในหลายจุด อาทิ สถานีดอนเมือง สามารถใช้งานได้ตามปกติทั้งหมด และสถานีต่างๆ จะทยอยกลับมาเปิดใช้งานได้ในเร็วๆ นี้ เร็วกว่าแผนงานเดิมที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ มีรายละเอียด การดำเนินการปรับปรุงมีดังต่อไปนี้ ระหว่างวันที่ 14-27 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้เข้าดำเนินการปรับปรุงลิฟท์และบันไดเลื่อนแล้วเสร็จ รวม 22 เครื่อง ประกอบด้วย ลิฟท์จำนวน 7 เครื่อง ได้แก่ สถานีดอนเมือง 4 เครื่อง สถานีทุ่งสองห้อง 1 เครื่อง และสถานีหลักหก 2 เครื่อง ขณะที่บันไดเลื่อน ปรับปรุงแล้วเสร็จ 15 เครื่อง ได้แก่ สถานีดอนเมือง 6 เครื่อง สถานีทุ่งสองห้อง 2 เครื่อง สถานีหลักหก 6 เครื่อง และสถานีรังสิต 1 เครื่อง
หลังจากนี้ การรถไฟฯ มีแผนเร่งดำเนินปรับปรุงลิฟท์ และบันไดเลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดแผนงานไทม์ไลน์การปรับปรุงแล้วเสร็จ พร้อมกับการเปิดใช้งาน ดังนี้
– วันที่ 28 สิงหาคม 2566 ปรับปรุงลิฟท์และบันไดเลื่อน บริเวณสถานีหลักสี่ และสถานีหลักหก แล้วเสร็จและพร้อมเปิดใช้งานทั้งหมด (ยกเว้นลิฟต์ L5)
– วันที่ 3 กันยายน 2566 ปรับปรุงลิฟท์และบันไดเลื่อน บริเวณสถานีวัดเสมียนนารี และสถานีบางเขน แล้วเสร็จและพร้อมเปิดใช้งานทั้งหมด
– วันที่ 10 กันยายน 2566 ปรับปรุงลิฟท์และบันไดเลื่อน บริเวณสถานีทุ่งสองห้อง และการเคหะ แล้วเสร็จและพร้อมเปิดใช้งานทั้งหมด (ยกเว้นลิฟต์ L6 ที่สถานีทุ่งสองห้องและบันไดเลื่อน ESC10 ที่สถานีทุ่งสองห้อง ที่พบโครงสร้างชำรุดจากการปรับปรุงถนนจากหน่วยงานภายนอก)
– วันที่ 15 กันยายน 2566 ปรับปรุงลิฟท์และบันไดเลื่อน บริเวณสถานีรังสิต แล้วเสร็จและพร้อมเปิดใช้งานทั้งหมด
ทั้งนี้ การรถไฟฯ ขอยืนยันว่ามีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ในการพัฒนาการให้บริการที่ดีที่สุด เพื่อให้ผู้โดยสารทุกคนสามารถใช้บริการได้สะดวกปลอดภัย ทั้งที่จอดรถสำหรับผู้พิการ ทางลาด ลิฟต์ ห้องน้ำคนพิการ ป้ายบอกทาง จุดยึดและจุดจอดรถวีลแชร์ โดยยึดหลักให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน พร้อมกับคำนึงถึงประโยชน์การให้บริการแก่ผู้โดยสารทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ผู้พิการ เด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา รวมถึงผู้โดยสารที่มีสัมภาระจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดในการใช้บริการ