นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนาย มาร์ค กิลคีย์ (MR. Marc Gilkey) ผู้แทนกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ร่วมเป็นสักขีพยานการจัดส่งส้มโอไทยชิปเม้นท์แรก มะม่วงชิปเม้นท์แรกของฤดูกาลปี 2566 และมังคุด ไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา โดยมี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวรายงานสรุปการดำเนินงานโครงการ Pre Clearance Program ณ ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาคารตรวจสอบรับรองสินค้าพืชแบบเบ็ดเสร็จ กรมวิชาการเกษตร แห่งใหม่
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น โดยในวันนี้เป็นการส่งออกส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ขาวแตงกวา จำนวน 72 กล่อง น้ำหนัก 864 กิโลกรัม ไปสหรัฐอเมริกาครั้งแรก และขอขอบคุณผู้แทนกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาที่ได้ให้การสนับสนุนผลไม้ไทย นับเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ รวมทั้งผู้ประกอบการส่งออกผลไม้จะได้เพิ่มตลาดส่งออกได้มากขึ้น โดยสหรัฐอเมริกานับได้ว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซี่งการจัดงานในวันนี้ถือเป็นการประสบความสำเร็จของผลไม้ไทย เกษตรกร และผู้ประกอบการ ตลอดจนกรมวิชาการเกษตรสามารถเปิดตลาดผลไม้สดเพื่อการส่งออกไปยังประเทศที่มีความเข้มงวดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชอย่างสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ
ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกากำหนดให้ไทยต้องฉายรังสีแกรมมา ปริมาณ 400 เกรย์ ก่อนส่งออกผลไม้ 8 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด มังคุด แก้วมังกร เงาะ และล่าสุดได้แก่ ส้มโอ ซึ่งเป็นผลไม้ที่สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐอเมริกาได้ อย่างไรก็ตามได้ฝากให้กรมวิชาการเกษตรเจรจาต่อรองในความเป็นไปได้ที่จะลดระดับของรังสีที่ต้องใช้กำจัดศัตรูพืชในผลไม้ทั้ง 8 ชนิดก่อนการส่งออก เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้สดจากประเทศไทย ที่มีสีสันสวยงาม และรสชาติหวานฉ่ำ เหมือนรับประทานอยู่ในประเทศไทย พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำให้เกษตรกรรักษาคุณภาพของผลไม้ไทย และส่งเสริมการส่งออกไม้ให้มากขึ้น และหวังว่าจะได้มีโอกาสเพิ่มช่องทางการส่งออกโดยทางเรือในเชิงพาณิชย์ ต่อไป
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้ยื่นขอเปิดตลาดส้มโอผลสดส่งออกไปสหรัฐอเมริกา กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้มอบหมายให้นาย มาร์ค กิลคีย์ ผู้แทนจากสำนักให้บริการตรวจสอบพืชและสัตว์ (APHIS/USDA) ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคใต้ มอบหนังสือแจ้งผลอย่างเป็นทางการ ถึงผลการทดสอบประสิทธิภาพการแพร่กระจายรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะอนุญาตให้นำเข้า โดยส้มโอส่งออกจะต้องผ่านการฉายรังสีแกรมมาที่ระดับ 400 เกรย์ นาน 3 ชั่วโมง จากศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ พร้อมโรงคัดบรรจุที่ได้รับอนุญาตให้คัดบรรจุส้มโอเพื่อการส่งออกได้
ล่าสุด กรมวิชาการเกษตรได้รับแจ้งจากบริษัท อกริ แอคทีฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่สหรัฐอเมริกาให้การยอมรับ และกรมวิชาการเกษตรเห็นชอบให้เป็นผู้ประสานงาน (Cooperator) ตามโครงการ Pre-Clearance Program ในการบริหารจัดการกับสินค้าและประสานกับเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายให้เป็นผู้ดำเนินการทั้งก่อนการส่งออก และหลังการนำเข้าที่ประเทศปลายทาง ซึ่งบริษัท เอเซีย เอ็กโซติคคอร์ปอชั่น จำกัด สมาชิกของโครงการมีความประสงค์จะส่งออกส้มโอชิปเม้นท์แรก และขอให้เจ้าหน้าที่กักกันพืชเข้าตรวจสอบและรับรองสินค้าก่อนส่งออกไปร่วมงานเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2566 นี้ และกระชับความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-สหรัฐอเมริกา ครบ 190 ปี ซึ่งจะเป็นวันหยุดที่ผู้คนจะออกจากบ้านมารับประทานอาหารนอกบ้านและเลือกซื้ออาหาร
“บริษัทเอเซีย เอ็กโซติคคอร์ปอชั่น จะส่งส้มโอ จำนวน 72 กล่องน้ำหนัก 864 กิโลกรัม เป็นชิปเม้นท์แรกของประเทศไทย รวมทั้งยังมีมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ มหาชนก แดงจักรพรรดิ และเขียวเสวย จำนวน 108 กล่อง น้ำหนัก 540 กิโลกรัม จัดเป็นชิปเม้นท์แรกของฤดูกาลผลิตปี 2566 และมังคุด จำนวน 20 กล่อง น้ำหนัก 140 กิโลกรัม นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังมีแผนที่จะสนับสนุนภาคเอกชนให้มีการจัดส่งทางเรือเพื่อลดต้นทุนและจัดส่งได้ครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบในเชิงคุณภาพ หากได้ผลดีจะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในเชิงการค้าต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว