เหลือบไปเห็นข่าว นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมต.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ออกมาเผยกับผู้สื่อข่าว เตรียมหารือกับ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ถึงปัญหาการบริหารจัดการดาวเทียมสื่อสารของชาติ โดยเฉพาะดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ที่นัยว่ายังมีความทับซ้อนกันอยู่กับ กสทช.
แถมยังระบุด้วยว่า หากยังเคลียร์หน้าเสื่อดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ไม่ลงตัวคงทำให้เส้นทางการออกใบอนุญาตดาวเทียมไทยคม 9 ที่นัยว่าจะมีการดึงเอาบริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เข้าไปร่วมลงทุนด้วยอาจต้องหาวเรอรอไปอีก
ใครที่ไม่เคยรู้ตึ้นลึกหนาบาง อาจคิดไปไกลว่า ที่ผ่านมารัฐคงปล่อยปละละเลยปัญหานี้ หรือปล่อยให้เอกชนตักตวงผลประโยชน์จากการให้บริการดาวเทียมโดยไม่เคยได้เข้าไปควบคุมดูแลกันมาก่อน
แต่หากจะย้อนรอยไปดู “เนื้อแท้” ของปัญหานี้แล้วจะเห็นได้ว่า หน่วยงานที่กำลังสับสนบทบาทหน้าที่ของตนเองนั้น ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็น“กระทรวงดีอี” น่ันแหล่ะ ที่กำลังจะลากนโยบายกำกับดูแลดาวเทียมสื่อสารของชาติให้เข้ารกเข้าพง เผลอๆ อาจทำให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงจะต้องสูญเสียวงโคจรดาวเทียมไปด้วยอีก!
เพราะดาวเทียม“ไทยคม 7 และ 8 ” นั้นได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช.ไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว และบริษัทเอกชนได้ทำการจัดสร้างและยิงดาวเทียมสู่วงโคจรเปิดให้บริการไปแล้วเช่นกัน โดยไทยคม 7 นั้นได้รับใบอนุญาตตั้งแต่ปี 55 ยิงเข้าสู่วงโคจรปลายปี 57 ขณะไทยคม 8 ได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 57 และจัดส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรเพื่อให้บริการไปเมื่อกลางปี 59 ที่ผ่านมา
แต่เหตุที่มันยุ่งขิงเป็นยุงตีกันขึ้นมานั้น ก็เพราะวันดีคืนดีกระทรวงดิจิทัล(ดีอี)ที่ปรับเปลี่ยนมาจากกระทรวงไอซีทีในอดีตนั้นไม่รู้เกิดไประลึกชาติอะไรขึ้นมา ถึงได้มีแนวคิดจะไป “ปลุกผี” ดึงเอาดาวเทียมทั้งสองดวงและดวงอื่นๆ กลับไปอยู่ในระบบสัมปทาน บังคับให้บริษัทเอกชนต้องจ่ายค่าสัมปทานเพิ่มขึ้นจากใบอนุญาตที่ได้รับจากกสทช.ซะงั้น!
ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกวันนี้กิจการสื่อสารโทรคมนาคมนั้นได้ถูกเปลี่ยนผ่านการกำกับดูแลไปอยู่ในมือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือกสทช. ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 ไปหมดแล้ว กระทรวงดีอีไม่มีอำนาจให้สัมปทานหรือบังคับจัดเก็บค่าต๋งค่าสัมปทานหรืออะไรที่ว่านั่นอีกแล้ว เพราะไม่มีกฎหมายรองรับใดๆ อยู่ในมือแล้ว แต่ก็ยังมีความพยายามจะ “ลุยกำถั่ว” กันอยู่อีก!
ที่สำคัญตอน กสทช.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่บริษัทไทยคมนั้น กระทรวงดีอีนั่นแหล่ะที่เป็นคนไฟเขียวและวิ่งวุ่นเร่งให้ กสทช.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่บริษัทเอกชนไปเอง พร้อมออกหน้าเจรจากับสหภาพโทรคมนาคม (ไอทียู) ขอใช้วงโคจรดาวเทียมเพื่อให้ไทยได้สิทธิ์ยิงดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ด้วยตนเอง เพราะเกรงว่า ประเทศไทยจะชวดวงโคจรดาวเทียมไปหากไม่รีบดำเนินการ
แล้ววันนี้เกิดอะไรข้ึน ถึงได้ลุกข้ึนมา “ปลุกผี” จะลากเอาระบบสัมปทานกลับมาใช้ซะอย่างนั้น!
คงจะต้องฝาก รมต.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลคนใหม่ ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีพื้นฐานเป็นทั้งวิศวกร เป็นอาจารย์และมีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีเป็นอย่างดี คงจะไม่ “หลวมตัว” เดินไปตามเกมที่ใครบางคนในกระทรวงไอซีทีในอดีตวางยาเอาไว้ จะรุดไปถามไถ่ กสทช.อีกกี่ปีกี่ชาติ ก็คงได้รับคำตอบไม่ต่างจากเดิมหรอกเพราะเขาได้ออกใบอนุญาตไปตามครรลองที่กฎหมายกำหนดแล้ว
จะเหลืออยู่ก็แต่กระทรวงดีอีนี่แหล่ะที่กำลังสับสนบทบาทตนเองมีอยู่!
ที่ไปตั้งป้อมคาดหวังแต่จะจัดเก็บค่าต๋งเขา โดยไม่ดูสภาพตลาดที่แท้จริงนั้น ระวังมันจะเป็นดาบ 2 คมที่ทำให้อุตสาหกรรมนั้นๆ ล้มทั้งยืนเอาแบบตลาดทีวีดิจิทัลเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่รัฐและกสทช.ตีปี๊บกับการรีดเม็ดเงินประมูลออกใบอนุญาตเข้าคลังที่ได้ไปกว่า 51,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายผู้ประกอบการทิวีดิจิทัลน้อยใหญ่ต่างหืดจับหายใจไม่ท่ัวท้อง ต้องบากหน้าไปขอให้ นายกฯงัด ม.44 ผ่าทางตันออกมาตรการเยียวยาให้อย่างที่เป็นอยู่
กิจการดาวเทียมนี้ก็เช่นกัน โดยพื้นฐานการแข่งขันน้ัน บริษัทเอกชนที่ประกอบการด้านนี้ ต้องออกไปแข่งขันกับต่างประเทศผู้ให้บริการดาวเทียมดวงอื่น ๆ ท่ัวโลก หากรัฐจัดโครงสร้างภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่ไม่เหมาะสมจนกลายเป็นภาระของผู้ประกอบการแล้ว ระวังมันจะเป็นดาบ 2 คมที่ทำให้ท้ายที่สุดจะไม่มีเอกชนหน้าไหนบากหน้าเข้ามาลงทุนให้
ถึงเวลานั้นอย่าว่าแต่จะทำเองเลย แม้แต่วงโคจรดาวเทียมของประเทศ ก็ไม่รู้ว่ากระทรวงดีอีจะมีความสามารถ (ปัญญา) รักษาเอาไว้ได้เองหรือไม่?
เนตรทิพย์