นายกฯ เยี่ยมชมความก้าวหน้าเครื่องไทยโทคาแมค – 1 พร้อมเดินเครื่องเพื่อวิจัยพลังงานฟิวชันเครื่องแรกในอาเซียน กรกฎาคมนี้

0
43

นายกฯ เยี่ยมชมความก้าวหน้าเครื่องไทยโทคาแมค – 1 พร้อมเดินเครื่องเพื่อวิจัยพลังงานฟิวชันเครื่องแรกในอาเซียน กรกฎาคมนี้ ชื่นชมทีมนักวิจัยไทย – กำชับความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เร่งพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นายธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ ทำหน้าที่ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์และรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับเครื่องโทคาแมค TT-1 (Thailand Tokamak I: TT-1) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันเครื่องแรกของไทย โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ภายใต้ความร่วมมือกับ กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการพัฒนาเครื่องโทคาแมค ชิ้นส่วนของเครื่องโทคาแมค HT-6M ที่ได้รับมอบจากสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน (Institute of Plasma Physics of Chinese Academy of Sciences: ASIPP) ตามข้อตกลงความร่วมมือ ที่ลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานการรับมอบชิ้นส่วนดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2561 เพื่อใช้ศึกษาวิจัยพลาสมาอุณหภูมิสูงในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศและฟิวชัน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดสำหรับ ผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต และนวัตกรรมที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และด้านการแพทย์ ซึ่งจากการพัฒนาเครื่องโทคาแมคนี้จะทำให้ประเทศมีองค์ความรู้และสามารถสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมระบบรางของไทย ในอนาคตได้อีกด้วย

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณคณะทำงาน ทีมนักวิจัยพัฒนา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ทุกฝ่าย ชื่นชมศักยภาพบุคลากรไทย ย้ำให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ พร้อมต่อยอดงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับคนไทย รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ พร้อมกำชับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ร่วมมือกันพัฒนาต่อไป เร่งสร้างกำลังคนด้านเทคโนโลยีฟิวชัน พัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เช่น การพัฒนาหลักสูตร การอบรมด้านเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน เป็นต้น เพราะพลังงานฟิวชันนอกจากจะเป็นพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังไม่ก่อให้เกิดฝุ่นควันและมลพิษ ที่เป็นอันตรายต่อผู้คน รวมถึงไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังเป็นขุมพลังงานที่ยั่งยืน มีความปลอดภัยสูง ไม่ก่อให้เกิดสารกัมมันตภาพรังสีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ จึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานและภาวะโลกร้อนในอนาคต” นายอนุชาฯ กล่าว

สำหรับเครื่องโทคาแมค เป็นเครื่องควบคุมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากปฏิกิริยาฟิวชัน เลียนแบบการทำงานของดวงอาทิตย์ เป็นอุปกรณ์กักเก็บพลาสมาพลังงานสูงโดยใช้สนามแม่เหล็ก ซึ่งปลอดภัยและเป็นมิตรกับโลก โดยความร่วมมือ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมกับ สทน. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ กฟผ. เพื่อร่วมแก้ปัญหาพลังงานขาดแคลน ที่กำลังจะเกิดขึ้นและเพื่ออนาคตของคนไทย

ทั้งนี้ สทน. ได้เริ่มติดตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน และได้ทดลองเดินเครื่องไทย โทคาแมค – 1 ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 จึงนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ โดยจะมีการเดินเครื่อง อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2566 และภายใน 10 ปีจะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่ขึ้นมาเอง รวมทั้งการประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน และกำลังคนระดับสูงด้านเทคโนโลยีฟิวชันของอาเซียน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประเทศ ที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี