CADT DPU ร่วม ชสบ. จัดสัมมนาฟรี “อากาศยานไร้คนขับ (Drone) กับทิศทางการกำกับดูแลของไทย” 11 ก.ค.นี้!

0
197

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT: College of Aviation Development and Training ) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ในช่วงเวลานี้ อุตสาหกรรมโดรน (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ เริ่มมีความสำคัญและมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture ) หรือ เกษตรอัจฉริยะ (Smart  Agriculture)  ด้านการทำแผนที่และการสำรวจ (Mapping & Survey) ด้านการเฝ้าระวังและตรวจสอบความปลอดภัย (Surveillance & Monitoring) ด้านการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Management) หรือการจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management)  ด้านความบันเทิง (Entertainment) เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ใช้โดรนจำเป็นต้องมีความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายข้อบังคับ หรือ ระเบียบข้อจำกัดในการใช้ รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้น ดังกล่าวนี้ วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มธบ. (CADT) และชมรมสถาบันการศึกษาและบุคลากรด้านการบินประเทศไทย (ชสบ.) เล็งเห็นความสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมโดรน จึงได้ร่วมกันจัดสัมมนา เรื่อง อากาศยานไร้คนขับ (Drone) กับทิศทางการกำกับดูแลของไทย  ในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมสนม สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อถายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ Drone และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาครัฐและภาคเอกชน ในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จาก Drone และเพื่อฉลองในโอกาสครบรอบ 55 ปี ของการสถาปนามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

หัวข้อสัมมนา ประกอบด้วย 1) “ความเป็นมาและการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone)”  วิทยากรโดย พลอากาศตรี บุญเลิศ อันดารา รองผู้บัญชาการ  โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช  2)  กฎหมายอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ของประเทศไทย  วิทยากรโดย นายสมชาย  พิพุธวัฒน์  ประธานชมรมสถาบันการศึกษาและบุคลากรด้านการบินประเทศไทย (อดีตอธิบดีกรมการบินพลเรือน)  3) แนวทางการกำกับดูแลการใช้งานอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในประเทศไทย วิทยากร : นายฉัตรชัย  ปั่นตระกูล รักษาการผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน  สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และ 4) อนาคตอากาศยานไร้คนขับ (Drone) กับเทคโนโลยีที่กำลังปฏิวัติโลก วิทยากร โดย นายจรรยวรรธน์  ชาติอนุลักษณ์ นายกสมาคมโดรนซอคเกอร์ประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ของ Drone มาโชว์ ภายในงานอีกด้วย

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสัมมนาเรื่องอากาศยานไร้คนขับ (Drone) กับทิศทางการกำกับดูแลของไทย ครั้งนี้ถือว่าเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-curve ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ทั้งผู้ผลิต    แนวทางการกำกับดูแล (Regulation Scheme) การบริหารจัดการคลื่นความถี่ รวมไปถึงแนวทางการฝึกอบรมที่มีหลายระดับสอดคล้องกับมิติการประยุกต์ใช้งานโดรน ประเภทต่าง ๆ อีกด้วย  พร้อมกับรับฟังและระดมความคิดเห็นจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโดรนเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก้าวต่อไปของการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งในบริบทการกำกับดูแลควบคู่ไปกับการส่งเสริม พัฒนา และการประยุกต์ใช้ ตลอดจนการสร้างมาตรฐานของอุตสาหกรรม   อากาศยานไร้คนขับ รวมทั้งผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอากาศยานไร้คนขับอีกด้วย

“ปัจจุบันโดรนมีบทบาทอย่างมาก ในการสัมมนา 3 ชม.นี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้ความรู้มากมาย นอกจากเรื่องของกฎหมายแล้ว หน่วยงานที่กำกับดูแลก็จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การใช้โดรนมีความชัดเจนมากขึ้น  การพัฒนาเทคโนโลยีของโดรนจะไปในทิศทางใดบ้างเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเทคโนโลยีโดรนจะเข้ามาปฏิวัติโลกในมุมใดได้บ้าง ดังจะเห็นได้ว่าระบบโลจิสติกส์ในต่างประเทศมีการใช้โดรนส่งของในระยะใกล้ ๆ กันแล้ว รวมทั้งการนำโดรนมาใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร จะเป็นจริงได้เมื่อไหร่”

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการออกบูธของผู้ประกอบการ มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาโชว์ โดยเฉพาะโรงเรียนนายเรืออากาศที่ชนะการแข่งขันโดรนจากต่างประเทศ รวมทั้ง Drone Academy จะมาสาธิตโดรนโชว์ในงานนี้ด้วย

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา กล่าวในตอนท้ายว่า ภายหลังการจัดงานจะได้นำองค์ความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากผู้แทนหรือหน่วยงานต่าง ๆ ไปบูรณาการในการทำงานต่อไป โดยอนาคต ตั้งเป้าให้ CADT DPU เป็นศูนย์กลางทางด้านโดรน เป็น One Stop Service ภายใต้การดูแลของ สถาบันการบิน มธบ. (DPU Aviation Academy : DAA)  โดยมีการฝึกอบรมด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับโดรน เป็นต้น

สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่  https://forms.gle/N3FXP6w5BsPCWtMb8