จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาหลักสูตร Lifelong Learning ด้านสุขภาพและการแพทย์ สำหรับบุคลากรสาธารณสุขและภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ทุกระดับ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพบุคลากรในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ สอดรับกับกระแสโลก ตลอดจนร่วมกันจัดทำโครงการจัดการความรู้ การพัฒนางานวิจัย รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ และ/หรือ นวัตกรรมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขต่อไปในอนาคต โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10)
การลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรในครั้งนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่สอดคล้องกันที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาการความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในระดับโลกถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยด้วยอุตสาหกรรมการแพทย์ จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรในด้านการธุรกิจและบริการด้านสุขภาพรองรับการเติบโต โดยเน้นรูปแบบการเรียนรู้ที่ครอบคุลมทุกช่วงวัย มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ได้แก่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) จึงเป็นที่มาของผนึกกำลังระหว่างองค์กร เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้นภายใต้ของตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งหวังที่จะนำความรู้วิชาการทางด้านสุขภาพและการแพทย์ใหม่ ๆ ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมาถ่ายทอดสู่ผู้นำของประเทศที่มีสมรรถนะในการสร้างสรรค์องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มุ่งสู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย การที่จุฬาฯ ได้ผนึกกำลังร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพบุคลากรในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในการพัฒนากำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงของประเทศต่อไป
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่ากรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีพันธกิจที่มุ่งพัฒนากำลังคนคุณภาพในระบบเศรษฐกิจสุขภาพ หลักสำคัญคือการผลักดันและส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศได้เพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อนในการพัฒนากำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพสูง ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ในรูปแบบหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต จึงเกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะมีความร่วมมือกันในการพัฒนาหลักสูตรการจัดการความรู้ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากร
เพื่อตอกย้ำเจตนารมย์ของความร่วมมือดังกล่าว จึงได้เปิดตัวแนะนำหลักสูตรระยะสั้นสำหรับผู้บริหารระดับสูงด้านการแพทย์และธุรกิจสุขภาพ หลักสูตรแรกของประเทศไทย หลักสูตร “เวฬา” หรือ “Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)” ซึ่งเป็นหลักสูตรภายใต้ความร่วมมือระหว่างระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยรวมองค์ความรู้ล้ำสมัย เช่น การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Reverse Aging) สุขภาพเพศกับการมีอายุยืน (Sexual Health & Longevity) เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) การนอนหลับ และสุขภาพจิต (Sleep and Mental Health) เป็นต้น เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้บริหาร/ผู้ประกอบการด้านธุรกิจและการให้บริการด้านสุขภาพทั้งในภาครัฐและเอกชนได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมหลักสูตรนี้ไปใช้พัฒนาองค์กรและพัฒนาธุรกิจให้มีความโดดเด่นในด้านมาตรฐานการให้บริการทัดเทียมกับกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ระดับนานาชาติ
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับรายละเอียดหลักสูตร หลักสูตร “เวฬา” หรือ “Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)” และหลักสูตรอื่น ๆ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ที่ เว็บไซต์ https://lifelong.chula.ac.th/vela